ครม.คลอดกฎหมายตั้งสถาบัน “Big Data” แห่งชาติ

13 ธ.ค. 2565 | 08:02 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ธ.ค. 2565 | 15:12 น.

ครม. เห็นชอบร่างกฎหมายตั้งสถาบันคลังข้อมูลขนาดใหญ่แห่งชาติ สู่ “Big Data” แห่งชาติ หลังจากยกฐานะสถาบันเดิมภายใต้กระทรวง DES ขึ้นเป็นองค์การมหาชน

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบการตั้งสถาบันคลังข้อมูลขนาดใหญ่แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ “Big Data” แห่งชาติ โดยอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันคลังข้อมูลขนาดใหญ่แห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เสนอ 

 

ทั้งนี้เพื่อเป็นหน่วยงานของรัฐ โดยเป็นหน่วยงานกลางเพื่อเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อน วิเคราะห์ และบูรณาการข้อมูลขนาดใหญ่ของประเทศโดยตรง ทำหน้าที่ให้บริการ ส่งเสริม และสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานอื่นเกี่ยวกับการพัฒนาคลังข้อมูลขนาดใหญ่ของประเทศไทย 

 

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า เดิมสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ดำเนินการมาแล้ว 3 ปี ตั้งแต่เดือน ก.ค. 62 - มิ.ย. 65 ปัจจุบันได้สิ้นสุดไปแล้ว

 

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ในการดำเนินการของสถาบัน ที่ผ่านมามีผลการดำเนินการที่สำคัญกับการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีข้อมูลของประเทศกว่า 2,300 คน และให้บริการด้านข้อมูลขนาดใหญ่จำนวนทั้งสิ้น 104 โครงการ ตัวอย่างเช่น

 

1.โครงการ Health Link เป็นโครงการออกแบบและพัฒนาระบบดิจิทัลและเทคโนโลยีเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลประวัติการรักษาทั่วประเทศ เป็นแพลตฟอร์มกลางสำหรับเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลประวัติการรักษา ทำให้มีการใช้ประโยชน์ข้อมูลด้านประวัติการรักษาข้ามโรงพยาบาล เพิ่มความสะดวกปลอดภัยให้กับการดูแลสุขภาพของประชาชน ลดค่าใช้จ่ายการเดินทางสำหรับการขอประวัติการรักษา ลดค่าบริหารจัดการเอกสารของโรงพยาบาล

 

2.โครงการ Co-Link ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ใช้ในการออกแบบและพัฒนาแพลตฟอร์มการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อบริหารจัดการเตียง ทะเบียนผู้ติดเชื้อ การครองเตียง ผลตรวจและการฉีดวัคซีน

 

3.โครงการ Travel Link ระบบบริการข้อมูลอัจฉริยะด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเครื่องมือสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายด้านการท่องเที่ยวของประเทศ รวมทั้งเป็นข้อมูลให้บริการข้อมูลแก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่จะช่วยวางแผนธุรกิจท่องเที่ยว

 

4.โครงการ National Health Data Platform ที่เป็นความร่วมมือของ 5 กระทรวง คือ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

 

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า เมื่อสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ หมดระยะเวลาดำเนินการ ทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จึงเสนอ ร่าง พ.ร.ฎ.นี้ โดยมีหลักการยกฐานะสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ ที่อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลฯ ให้เป็นสถาบันคลังข้อมูลขนาดใหญ่แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เพื่อขยายภารกิจจากเดิม 

 

โดยให้เน้นการพัฒนาให้เกิดสังคมการใช้ประโยชน์ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจของประเทศไทย (Data-Driven Nation) โดยเป็นหน่วยงานกลางทำหน้าที่ประสานส่งเสริมให้คำปรึกษาและบริการการวิเคราะห์ข้อมูลแก่ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ข้อมูลร่วมกันในการวางแผนนโยบายพัฒนาประเทศไปสู่ความเป็น Thailand 4.0 ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 นโยบายรัฐบาล และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

 

“สถาบันคลังข้อมูลขนาดใหญ่แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ที่จะจัดตั้งตามกฎหมายนี้จะเป็นองค์การมหาชน ในกลุ่มที่ 2บริการที่ใช้เทคนิควิชาการเฉพาะด้านหรือสหวิทยาการ เป็นหน่วยงานกลางเพื่อเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อน วิเคราะห์ และบูรณาการข้อมูลขนาดใหญ่ของประเทศ” น.ส.ทิพานัน กล่าว

 

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

 

ทั้งนี้ได้กำหนดวัตถุประสงค์หลัก 4 ด้าน คือ 

  1. จัดทำยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาศักยภาพและยกระดับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ 
  2. ส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างให้เกิดแพลตฟอร์มข้อมูลที่บูรณาการข้อมูลรายสาขา สำหรับการใช้ประโยชน์เชิงวิเคราะห์ เช่น การกำหนดนโยบายในเรื่องต่างๆ การวางแผนธุรกิจ 
  3. ให้บริการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ รวมทั้งให้บริการคำปรึกษาด้านข้อมูลขนาดใหญ่และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องแก่ทั้งภาครัฐและเอกชน
  4. ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมด้านข้อมูลขนาดใหญ่ให้มาตรฐาน

 

น.ส.ทิพานัน กล่าว สถาบันนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนที่จะใช้ข้อมูลร่วมกันในการวางแผนนโยบายพัฒนาประเทศ  นำไปใช้เป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์ข้อมูลประกอบการกำหนดนโยบายของประเทศและการตัดสินใจของรัฐบาลในเรื่องต่างๆ  โดยในแผนงานระยะ 5 ปีจะมุ่งเน้นการตอบโจทย์ด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว แรงงาน และยุติธรรม 

 

รวมไปถึงการวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ ข้อมูลข้ามสาขา และเป็นการดำเนินงานร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ที่เน้นสนับสนุนเชิงนโยบายด้านการจัดการข้อมูลภาครัฐ ด้านการแพทย์ การพัฒนาหน่วยงานภาครัฐให้สามารถทำงานผ่านระบบดิจิทัล และสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ทำหน้าที่บริหารจัดการระบบสถิติของประเทศ

 

ทั้งนี้ในเรื่องของชื่อสถาบันที่จะจัดตั้ง ครม. ได้มอบให้สำนักงานกฤษฎีกาไปพิจารณาและแก้ไขเพื่อความเหมาะสมและถูกต้องต่อไป