สถานการณ์ความยากจน ของไทยในปัจจุบัน แม้ตัวเลขอาจจะปรับลดลงมาเล็กน้อย หลังรัฐบาลอัดสารพัดโครงการช่วยเหลือลงไปต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเติมเงินเข้าประเป๋า "คนจน" ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา แต่ท้ายที่สุดดูเหมือนจะยังแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เพราะเรื่องเงินอาจไม่ใช่ต้นตอปัญหาที่แท้จริง หากแต่มีเรื่องอื่นที่รุนแรงและซับซ้อนกว่ารอคอยการแก้ไข
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลง ภาวะสังคมไทยไตรมาสที่ 3 ปี 2565 มีเรื่องหนึ่งที่หยิบยกมานำเสนอเกี่ยวกับสถานการณ์ความยากจน โดยเฉพาะการมองคนจนหลายมิติ ปี 2564 ปัญหาที่ไม่ใช่แค่เรื่องเงินเท่านั้น โดย สศช. สรุปรายละเอียดไว้น่าสนใจ ดังนี้
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2564 แม้จะรุนแรงขึ้นกว่าช่วงปี 2563 จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากถึง 2 ล้านคน จากเดิมที่ติดเชื้อไม่ถึงหมื่นคนในปีก่อน แต่สถานการณ์ดังกล่าว กลับไม่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ความยากจนที่อยู่ในรูปตัวเงินมากนัก
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้เมื่อพิจารณาคนที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน (คนจน) ในปี 2564 พบว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 4.4 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนคนจนที่ 6.32% ลดลงจากปีก่อนที่มีจำนวน 4.7 ล้านคน หรือมีสัดส่วนคนจน 6.83%
สาเหตุสำคัญที่ทำให้สถานการณ์ความยากจนปรับตัวดีขึ้น คือ การที่รัฐบาลมีการดำเนินมาตรการเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกับกลุ่มคนจนและผู้มีรายได้น้อย ประกอบด้วย
ทั้งนี้แม้สถานการณ์ความยากจนจะลดลงและดูเหมือนว่าการมีมาตรการช่วยเหลือโดยการอุดหนุนเงินให้กับกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยจะสามารถบรรเทาปัญหาความยากจนให้ลดลงได้ อย่างไรก็ตามนิยามของความยากจนยังรวมถึงการขาดแคลน ขัดสน หรือขาดโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ และการไม่สามารถเข้าถึงบริการและความช่วยเหลือของรัฐด้วย
ดังนั้นจึงพบปัญหาว่า ในปี 2564 ยังมีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตอีกหลายด้านที่ต้องให้ความสำคัญ ดังต่อไปนี้
ปัญหาด้านการศึกษา
ช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 การใช้มาตรการควบคุมส่งผลให้เด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษาถึง 2.8 แสนคน และเกิดปัญหาภาวะความถดถอยทางการเรียนรู้ที่ส่งผลกระทบต่อทักษะการศึกษาและการทำงานในอนาคต
ที่ผ่านมามีข้อมูลจาก กระทรวงศึกษาธิการ รายงานว่า ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา มีการสำรวจพบว่า เด็กไทยหลุดออกจากระบบการศึกษาจำนวนมาก โดยสาเหตุที่เด็กต้องหลุดระบบการศึกษาไปนั้น นอกจากสถานการณ์โควิด-19 แล้ว ยังเป็นเรื่องของความจำเป็นทางครอบครัว หรือผู้ปกครองมีรายได้น้อยไม่พอเพียง ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งเป้าหมายค้นหาเด็กที่หลุดจากระบบ กลับมาให้ได้ครบ 100% ในปี 2565 นี้
ปัญหาด้านสุขภาพ
จากข้อมูลการประเมินสุขภาพจิตคนไทยตลอดปี 2564 ชี้ให้เห็นว่า คนไทยมีความเครียดสูงและเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น โดยสัดส่วนผู้มีภาวะเครียดสูงอยู่ที่ 14.5% เสี่ยงซึมเศร้า 16.8% และเสี่ยงฆ่าตัวตาย 9.5% ในกลุ่มประชาชนทั่วไป ซึ่งปัญหาดังกล่าวพบมากในกลุ่มเด็ก เยาวชน และวัยเรียนอายุไม่ถึง 20 ปี และ 20 – 29 ปี ซึ่งมีสัดส่วนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประชาชนทั่วไปถึงเท่าตัว
ขณะเดียวกันยังพบปัญหาการเข้าถึงการรักษาพยาบาลและการขาดทรัพยากรที่เพียงพอในการรองรับวิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้การใช้บริการสุขภาพในด้านต่าง ๆ ลดลง ทั้งการใช้บริการเมื่อเจ็บป่วยและการใช้บริการส่งเสริมสุขภาพอื่น ๆ
ปัญหาด้านความเป็นอยู่
จากข้อมูลพบว่า ปัญหาคนไร้บ้านและการขาดแคลนที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ สถานการณ์โควิด-19 ยังทำให้ปัญหาขยะติดเชื้อมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นเกือบเท่าตัวในปี 2564 โดยมีมากกว่า 8,234 ตัน ที่ไม่ได้รับการกำจัดอย่างถูกต้อง ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง
ปัญหาด้านหลักประกันรายได้
นอกจากนี้ในเรื่องของหลักประกันรายได้ ยังพบปัญหาที่คนจำนวนมากไม่ได้รับการช่วยเหลือตามระบบปกติจากวิกฤตโควิด-19 เนื่องจากไม่มีหลักประกันทางสังคม รวมทั้งยังมีปัญหาจากการขาดรายได้และไม่มีเงินออมเพียงพอที่จะรองรับการขาดรายได้จากช่วงวิกฤต ซึ่งปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้สะท้อนถึงปัญหาความยากจนได้ทั้งสิ้น
สศช. ระบุด้วยว่า ภาพรวมสถานการณ์ความยากจนหลายมิติ ในปี 2564 พบว่า คนจนหลายมิติ มีจำนวน 8.1 ล้านคน มีแนวโน้มที่ดีขึ้น กล่าวคือ มีสัดส่วนคนจนลดลงจาก 27.45% ในปี 2556 เหลือ 11.6% ในปี 2564 อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบคนจนหลายมิติและคนยากจนด้านตัวเงินจากเส้นความยากจน พบว่า
ความยากจนด้านตัวเงินและหลายมิติของไทยมีแนวโน้มลดลง แต่ความยากจนหลายมิติมีปัญหาที่รุนแรงกว่าความยากจนด้านตัวเงินมากจากจำนวนคนจนหลายมิติที่มีจำนวนมากกว่าคนยากจนด้านตัวเงินเกือบเท่าตัว โดยคนจนด้านตัวเงินมีเพียง 4.4 ล้านคน เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความยากจนทั้ง 2 รูปแบบ มีทิศทางสอดคล้องกันคือ มีแนวโน้มลดลง และเมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลต่อความยากจนหลายมิติ พบว่า มิติความเป็นอยู่ส่งผล ต่อความยากจนหลายมิติมากที่สุด รองลงมาเป็นมิติความมั่นคงทางการเงิน การใช้ชีวิตในแบบที่ดีต่อสุขภาพ และการศึกษา ตามลำดับ