เกาะติดประเด็นการทำธุรกิจของ “กองสลากพลัส” ขายลอตเตอรี่ออนไลน์มีความคืบหน้าต่อเนื่อง ล่าสุด กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI เตรียมออกหมายเรียกผู้บริหารกองสลากพลัส คือนายพันธ์ธวัช นาควิสุทธิ์ หรือ นอท กองสลากพลัส เข้ามาชี้แจงเหตุรับเงินจากกลุ่มขบวนการฟอกเงิน
หลังจากเจ้าหน้าที่ DSI ได้จับกุมผู้ต้องหาซึ่งเป็นหัวหน้าขบวนการฟอกเงินรายสำคัญได้ และสอบสวนขยายผล จนพบผู้ต้องสงสัยรายอื่น โดยหนึ่งในผู้รับเงินจากกลุ่มขบวนการนี้ คือ ผู้บริหารกิจการสลากกินแบ่งออนไลน์ “กองสลากพลัส” ซึ่งปรากฎหลักฐานการรับเงินจากกลุ่มขบวนการนี้จำนวนหลายสิบล้านบาท
อย่างไรก็ดีภายหลังจาก DSI ได้ออกประกาศดังกล่าว นายพันธ์ธวัช หรือ "นอท กองสลากพลัส" ก็ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า ยินดีให้ตรวจสอบ และพร้อมเข้าชี้แจง และขอปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับขบวนการฟอกเงิน แต่ขบวนการนี้เอาเงินมาซื้อสลากกับกองสลากพลัสเท่านั้น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ฐานเศรษฐกิจ สรุปไทม์ไลน์ประเด็นร้อน นอท กองสลากพลัส ก่อน DSI ออกหมายเรียกมาชี้แจง โดยไล่เรียงดังนี้
วันที่ 24 ธันวาคม 2565
กองสลากพลัส สร้างกระแสฮือฮา หลังประกาศเป็นผู้สนับสนุนหลักทุ่มเงิน 67 ล้านบาท ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียน 2022 หรือ “AFF Mitsubishi Electric Cup 2022” ที่ทีมชาติไทยลงแข่งขัน
วันที่ 26 ธันวาคม 2565
ฐานเศรษฐกิจ เปิดประเด็นการดำเนินธุรกิจบริษัท ลอตเตอรี่ออนไลน์ จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจการขายลอตเตอรี่ผ่านออนไลน์ ในชื่อ กองสลากพลัส พบว่า บริษัทมีทุนจดทะเบียนเพียง 5 ล้าน และกำไร 9.3 ล้านบาท ในปี 2564 แต่กลับซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลสูงถึง 67 ล้านบาท
ในวันเดียวกัน นายพันธ์ธวัช หรือ นอท กองสลากพลัส โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุ กำไร 9 ล้าน คือปี 2564 จากยอดขาย 1,000 ล้านบาท แต่ในปี 2565 มียอดขาย 18,000 ล้านบาท
วันที่ 27 ธันวาคม 2565
กรมสรรพากร ตรวจสอบความถูกต้องในการจ่ายภาษี หลังจากกองสลากพลัสระบุว่ามียอดขาย 18,000 ล้านบาท
วันที่ 28 ธันวาคม 2565
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เรียกผู้บริหารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เข้ามาหารือถึงเรื่องการทำธุรกิจของกองสลากพลัส และขอให้ร่วมมือกับ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI เจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันตรวจสอบเรื่องเส้นทางการเงิน
ทั้งนี้ในวันเดียวกันช่วงเช้า นอท กองสลากพลัส ยังได้ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ THAN TALK โดยฐานเศรษฐกิจ เพื่อชี้แจงประเด็นข้อสงสัยต่าง ๆ และยอมรับว่า ถูกกรมสรรพากรตรวจสอบภาษี โดยเตรียมยื่นเอกสารชี้แจงเพิ่ม 16 มกราคม นี้
วันที่ 30 ธันวาคม 2565
นอท กองสลากพลัส ตั้งโต๊ะแถลงชี้แจงกรณีเส้นทางการเงินในการทำธุรกิจ การจัดหากว้านซื้อลอตเตอรี่ การจ่ายภาษี พร้อมระบุเจอที่ปรึกษานักการเมืองจ้องเล่นงาน
วันที่ 1 มกราคม 2566
มีความเห็นของนักบัญชี ระบุว่า การดำเนินธุรกิจของกองสลากพลัสในปี 2565 มีรายจ่ายสูงถึง 17,600 ล้านบาท หรือ 98.89% ของรายได้ แต่อัตราการกำไรสุทธิ Net Profit Margin (NPM) ของกองสลากพลัสอยู่ที่ 2.22% เท่านั้น ถือว่าต่ำมาก เมื่อเทียบกับการประกอบธุรกิจโดยทั่วไป ซึ่งควรมีกำไรขั้นต่ำอยู่ที่ 20%
ต่อมา นอท กองสลากพลัส ได้ชี้แจงผ่านทางเฟซบุ๊กฐานเศรษฐกิจว่า สลากที่ขายเอากำไรน้อยกว่าตามตลาด คิดแค่ 5 บาทต่อใบ หรือ กำไรขั้นต้น 5% เท่านั้น ต่างกับสลากในตลาดที่กำไรสูงถึง 20-30%
วันที่ 2 มกราคม 2566
ฐานเศรษฐกิจ โพสต์ข่าว "ปีชง 2566” ตรงกับปีนักษัตรอะไรพร้อมวิธีแก้ชง ลงในเฟซบุ๊กฐานเศรษฐกิจ โดยหนึ่งในผู้เข้ามาแสดงความเห็นคือ นอท กองสลากพลัส ระบุว่า “ชงตั้งแต่ฐานฯ มาสนใจผมนี่ละ เบาๆ มือกับผมหน่อยนะครับ”
วันที่ 4 มกราคม 2566
กรมสรรพากร ตั้งข้อสงสัย นอท กองสลากพลัสระบุข้อมูลจ่ายภาษีอาจคำนวณผิด คาดว่าจะมีกำไรแตะเดือนละ 700 ล้านบาท และอาจต้องเก็บภาษีในปี 2565 รวมกว่า 500 ล้านบาท
กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ระบุว่า เตรียมออกหมายเรียกผู้บริหารกองสลากพลัส แจงปมพัวพันกลุ่มฟอกเงิน
ข้อมูลการทำธุรกิจของ กองสลากพลัส
จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2563 ซึ่งมีอายุเพียงแค่ 2 ปีเท่านั้น โดยทุนจดทะเบียนมีจำนวนแค่ 5 ล้านบาท
ส่วนผลประกอบการพบว่า ในปี 2564 บริษัทมีรายได้รวม 1,193 ล้านบาท รายจ่ายรวม 1,181 ล้านบาท เมื่อหักภาษีเงินได้ 2,440,731 บาท ทำให้มีกำไร 9,369,116 บาท ส่วนในปี 2565 นอท กองสลากพลัส ระบุว่า มียอดขายรวม 18,000 ล้านบาท เบื้องต้นมีกำไรอยู่ที่ประมาณ 400 ล้านบาท
ส่วนโครงสร้างผู้ถือหุ้นบริษัทมีผู้ถือหุ้นรวม 4 ราย รวม 50,000 หุ้น แยกเป็น