ครม.ต่ออายุลดภาษีดีเซล 5 บาท/ลิตร นาน 4 เดือน สูญรายได้ 4 หมื่นล้าน

17 ม.ค. 2566 | 06:09 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ม.ค. 2566 | 16:03 น.

ที่ประชุมครม. เห็นชอบการต่ออายุมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ลิตรละ 5 บาท เป็นเวลา 4 เดือน กระทรวงการคลัง ประเมินทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ เห็นชอบการต่ออายุมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ลิตรละ 5 บาท เป็นเวลา 4 เดือน ตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ ตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2566 - 20 พฤษภาคม 2566 เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพให้ประชาชนจากปัญหาราคาน้ำมันแพง

ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้มีการต่ออายุมาตรการดังกล่าวแล้ว 5 ครั้ง และครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 6 เบื้องต้นกระทรวงการคลังยอมรับว่า จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากการเก็บภาษีไปประมาณเดือนละ 10,000 ล้านบาท รวม 4 เดือนเป็นเงิน 40,000 ล้านบาท

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุว่า การต่ออายุครั้งนี้ เพราะเห็นว่า ประชาชนยังเดือดร้อนอยู่ จึงจำเป็นต้องต่ออายุต่อไปอีก 4 เดือน โดยสูญเสียรายได้อีก 4,000 ล้านบาท ขณะที่สถานการณ์กองทุนน้ำมันก็ยังติดลบเหมือนเดิม

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : คลังลดภาษีดีเซล สูญรายได้แล้ว 1.5 แสนล้าน

 

ภาพประกอบข่าว ภาษีสรรพสามิตน้ำมัน

 

ต่อมา นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงรายละเอียดว่า การดำเนินมาตรการครั้งนี้ ครม. ได้อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

โดยเป็นการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล และน้ำมันอื่นๆ ที่คล้ายกันในบัญชีพิกัดภาษีสรรพสามิต ประเภทที่ 01.05 รายการน้ำมันดีเซลที่มีกำมะถันและรายการน้ำมันดีเซลที่มีไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันผสมอยู่ โดยปรับอัตราภาษีลดลง ประมาณ 5 บาทต่อลิตร ตามชนิดของน้ำมันดีเซล 

ทั้งนี้มีผลตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2566 ถึง 20 พฤษภาคม 2566 โดยเป็นมาตรการต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นมา และจะสิ้นสุดในวันที่ 20 มกราคม 2566

เปิดเหตุผลกระทรวงคลังต่ออายุลดภาษี

สำหรับเหตุผลของการดำเนินมาตรการนี้ต่อ เนื่องจากน้ำมันดีเซลเป็นต้นทุนในภาคส่วนต่าง ๆ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งการลดอัตราภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันในครั้งนี้จะช่วยรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศไม่ให้สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนและภาคธุรกิจในระดับที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ 

อย่างไรก็ตามกระทรวงการคลังจะติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิด เพื่อพิจารณาความเหมาะสมของการปรับลดอัตราภาษี เพื่อให้ฐานะการคลังของประเทศมีเสถียรภาพมากขึ้น รวมทั้งให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐเป็นไปตามประมาณการการจัดเก็บรายได้ประจำปีงบประมาณ 2566 

“นายกรัฐมนตรีได้ย้ำว่า รัฐบาลดูแลมาตรการนี้ เป็นส่วนหนึ่งในการดูแลประชาชน ในสถานการณ์ที่ราคาพลังงานของโลกยังคงผันผวน” โฆษกรัฐบาล ระบุ