เปิดแผนจัดเก็บรายได้ ปี 66-67 ตั้งเป้าสูงรีดเงินเข้ารัฐ ประคองเศรษฐกิจ

18 ม.ค. 2566 | 21:50 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ม.ค. 2566 | 01:48 น.

ความท้าทายเศรษฐกิจไทย หลังเจอหลายมรสุมกระทบ เช็คข้อมูลเป้าหมายและแผนการจัดเก็บรายได้ ปีงบประมาณ 2566-67 หลังจากผ่านครม.เรียบร้อย ลุ้นสามกรมภาษีรีดรายได้เข้าคลังได้แค่ไหน เพื่อประคองเศรษฐกิจ

สถานการณ์เศรษฐกิจ หลังผ่านช่วงโควิด-19 ยังคงมีหลายปัจจัยหลายอย่างที่น่ากังวล หลังกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ออกมาเตือนว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2566 จะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) รุนแรงกว่าปีก่อน เพราะเศรษฐกิจชาติผู้นำของโลก ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และจีน กำลังชะลอตัวลงพร้อม ๆ กัน และน่าจะส่งผลสะเทือนกับเศรษฐกิจไทย และมีผลต่อ "การจัดเก็บรายได้" ของรัฐไม่น้อย

ล่าสุดในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2566 ได้รับทราบข้อมูลทางด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ ตามที่ สำนักงบประมาณ และหน่วยงานทางด้านเศรษฐกิจเสนอ นั่นคือ กรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ภายในนั้นกำหนดข้อมูลด้านการประมาณการรายได้ไว้อย่างชัดเจนทั้งในปี 2566-67

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : จับสัญญาณเศรษฐกิจถดถอย ปี 66 หนัก หลายประเทศผจญ Recession

 

ประมาณการรายได้ภาครัฐ ปีงบประมาณ 2566-67

เปิดประมาณการรายได้ช่วง 2 ปี

การประมาณการรายได้ภาครัฐ ในช่วง 2 ปีนี้ นั่นคือ ปีงบประมาณ 2566-67 กระทรวงการคลัง ได้มีการจัดทำรายละเอียดเสนอให้กับที่ประชุมครม. รับทราบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากตัวเลขทั้งหมดได้ผ่านการเห็นชอบจากการประชุมร่วม 4 หน่วยงาน นั่นคือ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทย แยกออกเป็นรายปี ดังนี้

ปีงบประมาณ 2566 ประมาณการว่ารัฐบาลจะจัดเก็บรายได้รวม 3,002,800 ล้านบาท ประกอบด้วย 

  • กรมสรรพากร 2,029,100 ล้านบาท
  • กรมสรรพสามิต 567,000 ล้านบาท
  • กรมศุลกากร 105,500 ล้านบาท
  • หน่วยงานอื่น ๆ 301,200 ล้านบาท 

ปีงบประมาณ 2567 ประมาณการว่ารัฐบาลจะจัดเก็บรายได้รวม 3,329,400 ล้านบาท ประกอบด้วย 

  • กรมสรรพากร 2,335,700 ล้านบาท
  • กรมสรรพสามิต 581,700 ล้านบาท
  • กรมศุลกากร 108,700 ล้านบาท
  • หน่วยงานอื่น ๆ 303,300 ล้านบาท 

 

ประมาณการรายได้ภาครัฐ ปีงบประมาณ 2566-67

ครม.สั่งสศช.ประเมินผลการใช้จ่ายลงทุนรัฐ

นอกจากการเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่าย และประมาณการรายได้ในปีงบประมาณ 2566-67 แล้ว ครม.ยังขอให้ สศช. ประเมินผลการใช้จ่ายด้านการลงทุนของภาครัฐ รวมถึงการดำเนินมาตรการของภาครัฐในการส่งเสริม สนับสนุน และเอื้อให้เกิดการลงทุนในประเทศในช่วงที่ผ่านมาว่า มีผลการดำเนินงานเป็นอย่างไร สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือเพิ่มรายได้ให้ประเทศอย่างไรบ้าง

พร้อมทั้งให้ทบทวนโครงสร้างบุคลากรภาครัฐให้มีจำนวนที่เหมาะสมตามความจำเป็น เนื่องจากภาระค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยให้กำหนดเป้าหมายการลดอัตรากำลังข้าราชการในแต่ละปีที่ชัดเจน รวมถึงการจ้างงานบุคลากรที่มีทักษะเฉพาะ เช่นเดียวกับการจ้างงานระยะสั้น และการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรในอนาคตได้

นอกจากนี้ยังขอให้เพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่ายงบประมาณของทุกหน่วยงานโดยเฉพาะรายจ่ายลงทุน โดยสั่งกระทรวงการคลัง พิจารณากระบวนการอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 โดยเร็ว เพื่อให้การเบิกจ่ายงบประมาณเป็นไปตามเป้าหมาย