เร่งผลักดันอยู่นานสำหรับการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ หรือ "ค่าเหยียบแผ่นดิน" โดย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จัดเตรียมรายละเอียดเสนอให้รัฐบาลเห็นชอบ หลังจากคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) มีมติเห็นชอบเรียบร้อยแล้ว
ล่าสุด นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (14 กุมภาพันธ์ 2566) ที่ประชุมได้รับทราบมติ ท.ท.ช. โดยให้สามารถเก็บค่าเหยียบแผ่นดินกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ได้คาดว่าจะเริ่มต้นได้ตามเป้าหมาย วันที่ 1 มิถุนายน 2566 นี้
“ครม.เห็นชอบเรียบร้อย โดยการเก็บค่าเหยียบแผ่นดินครั้งนี้ จะนำมาเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดูแลนักท่องเที่ยวต่างชาติด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งที่ผ่านมาจากการเก็บข้อมูลในปี 2560-2562 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไปใช้บริการในสถานพยาบาลของรัฐ และต้องใช้งบประมาณรัฐเข้าไปดูแลมากถึง 300-400 ล้านบาท”
ค่าเหยียบแผ่นดิน คืออะไร
“ค่าเหยียบแผ่นดิน” หรือ การจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เป็นการเรียยกเก็บค่าธรรมเนียมจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางโดยเครื่องบิน หรือ เดินทางผ่านด่านช่องทางบก และช่องทางน้ำ โดยจะออกเป็นประกาศคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ เรื่อง การจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ ประกอบด้วย
เก็บค่าเหยียบแผ่นดิน เท่าไหร่
การจัดเก็บค่าธรรมเนียมทางเครื่องบิน : นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยโดยเครื่องบิน ต้องชำระค่าธรรมเนียมในอัตราคนละ 300 ต่อคนต่อครั้ง
โดยให้ทางสายการบินมีหน้าที่ดำเนินการ รวมทั้งจัดเก็บค่าธรรมเนียม โดยให้จัดเก็บรวมกับค่าโดยสาร และให้แสดงอัตราค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บไว้ในบัตรโดยสาร หรือเอกสารอย่างอื่น พร้อมทั้งนำส่งบัญชีรายชื่อนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เป็นผู้โดยสารขาเข้าก่อนจะออกเดินทางจากสนามบินประเทศต้นทาง
การจัดเก็บค่าธรรมเนียมทางบก และทางน้ำ : นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยโดยผ่านด่านช่องทางบก ช่องทางน้ำ ต้องชำระค่าธรรมเนียมในอัตราคนละ 150 ต่อคนต่อครั้ง (เก็บเฉพาะนักท่องเที่ยวที่เข้าเมืองโดยใช้พาสปอร์ต)
เก็บค่าเหยียบแผ่นดิน ใครไม่ต้องจ่าย
การจัดเก็บค่าธรรมเนียมทางเครื่องบิน : ยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมกับผู้ถือหนังสือเดินทางประเทศไทย ผู้ควบคุมและเจ้าหน้าที่ประจำเครื่องบิน ทารกและเด็กอายุไม่เกิน 2 ปี และบุคคลอื่น ตามที่คณะกรรมการกำหนด
การจัดเก็บค่าธรรมเนียมทางบก และทางน้ำ : ยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมกับบุคคลต่าง ๆ คือ ผู้ถือหนังสือเดินทางประเทศไทย ผู้ที่มีบัตรผ่านแดนชั่วคราว ข้าราชการที่ต้องเดินทางเข้าออก และแรงงานที่เดินทางแบบไปเช้าเย็นกลับ
ค่าเหยียบแผ่นดิน มีประเทศไหนบ้าง
รูปแบบการจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากนักท่องเที่ยวของประเทศต่างๆปัจจุบันมีการจัดเก็บอยู่แล้วกว่า 40 ประเทศ เช่น
เปิดรายละเอียดค่าเหยียบแผ่นดิน
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังว่า ครม.เห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ เรื่อง การจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติ พ.ศ.... ตามที่คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) เสนอ
ทั้งนี้ ร่างประกาศฯ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาประเทศไทย โดยกำหนดค่าธรรมเนียม 300 บาทต่อคนต่อครั้ง สำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศไทยผ่านช่องทางอากาศ และ 150 บาทต่อคนต่อครั้งสำหรับผู้เดินทางเข้าช่องทางบกและช่องทางน้ำ
โดยยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับผู้หนังสือเดินทางเพื่อการทูต กงสุล หรือการปฏิบัติราชการ (Diplomatic or Official Passport) ผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบอาชีพในประเทศไทย(Work Permit) หรือหนังสืออนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะตามที่กระทรวงแรงงานกำหนด ผู้โดยสารผ่าน(Transit Passenger) ทารกและเด็กอายุไม่เกิน 2 ปี และบุคคลอื่นตามที่คณะกรรมการ ท.ท.ช. กำหนด
ครม.สั่ง สตม. ปรับกฎหมาย
พร้อมกันนี้ ครม. ได้มอบหมายให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ดำเนินการปรับปรุงกฎกระทรวงกำหนด หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการตรวจลงตรา และกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่ออกตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522
โดยกำหนดให้ใช้หลักฐานการชำระค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เป็นเอกสารประกอบการอนุญาตเข้าเมืองและ และให้ สตม. เป็นผู้ตรวจสอบหลักฐานการชำระค่าธรรมเนียมเพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาตเข้าเมืองต่อไป
การออกประกาศ ท.ท.ช. ครั้งนี้ เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) นโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ. 2551 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.นโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ฉบับที่2) พ.ศ. 2562 ซึ่งให้ ท.ท.ช. สามารถเสนอต่อ ครม. ให้มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อใช้จ่ายในการบริหารและพัฒนาการท่องเที่ยว รวมทั้งใช้ในการจัดให้มีประกันภัยแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติในระหว่างเที่ยวภายในประเทศไทย
ตั้งกองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย
นอกจากนี้ พ.ร.บ.นโยบายการท่องเที่ยวฯ ยังบัญญัติให้จัดตั้งกองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการพัฒนาการท่องเที่ยว การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การพัฒนาทักษะด้านการการบริหาร การตลาด หรือการอนุรักษ์ทรัพยากรท่องเที่ยวในชุมชน ดูแลรักษาคุณภาพแหล่งท่องเที่ยว ส่งเสริมสินค้าทางการท่องเที่ยวใหม่ในท้องถิ่น
รวมถึงการจัดให้มีประกันภัยแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งขณะนี้กระทรวงการท่องเที่ยวอยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อจัดกตั้งกองทุนฯ
ยึดข้อมูลประเทศต้นแบบ
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ดำเนินการศึกษาเชิงเปรียบเทียบแล้วพบว่าประเทศไทยไม่ใช่ประเทศแรกที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ปัจจุบันมีกว่า 40 ประเทศทั่วโลกที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมในรูปแบบที่แตกต่างกัน แต่ประเทศไทยเป็นประเทศแรกของโลกที่เก็บค่าธรรมเนียมแล้วมีสวัสดิการคืนแก่นักท่องเที่ยวผ่านประกันอุบัติเหตุ การเสียชีวิต และการส่งศพกลับประเทศ เพื่อดูแล ช่วยเหลือ เยียวยานักท่องเที่ยว เป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ
สำหรับการดำเนินการดังกล่าวนี้จะช่วยลดภาระงบประมาณในการดูแล เยียวยานักท่องเที่ยว และด้านสาธารณสุข จากการเก็บค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลไม่เต็มจำนวนมีความสูญเสียงบประมาณแผ่นดินปีละประมาณ 300-400 ล้านบาทต่อปี
รวมถึงงบประมาณสำหรับการดูแลแหล่งท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติที่เกิดความเสื่อมโทรมจากการท่องเที่ยว รวมทั้งงบประมาณสำหรับการดูแลพัฒนาสาธารณูปโภคที่จะสนับสนุนการท่องเที่ยวให้ปลอดภัย
มีผลบังคับเมื่อพ้น 90 วัน
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างประกาศฯ นอกจากจะกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมข้างต้นแล้ว ยังได้กำหนดกรอบเวลาของการบังคับใช้ซึ่งจะมีผลบังคับเมื่อพ้น 90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา, การกำหนดบทนิยามต่างๆ ให้ชัดเจน, กำหนดวิธีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมโดยทางอากาศยานให้จัดเก็บผ่านค่าโดยสารเครื่องบิน
ส่วนทางบกและทางน้ำเก็บผ่านเว็บไซต์ โมบายแอปพลิเคชั่นและตู้ให้บริการชำระค่าธรรมเนียม(Kiosk)
โดยกำหนดให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศยานและผู้ดำเนินการมีหน้าที่ลงทะเบียนกับกองทุนฯ เพื่อพัฒนาระบบของตนเองในการเชื่อมต่อเข้า นำส่ง และแลกเปลี่ยนข้อมูลผู้โดยสาร ข้อมูลชำระค่าธรรมเนียมกับระบบการจัดเก็บค่าธรรมเนียมก่อนทำการบินเข้าประเทศไทย โดยผู้ดำเนินการเดินอากาศและผู้ดำเนินการจะได้รับค่าตอบแทนในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากกองทุนฯ ตามที่ได้ตกลงกัน