นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี (GDP) ของไทย ว่า ในปี 2565 เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เพียง 2.6% ต่ำกว่าประมาณการเดิมที่ สศช. ประเมินเอาไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะขยายตัวได้ถึง 3.2% หลังได้รับผลประทบจากการส่งออกที่ชะลอตัวอย่างหนักในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2565
ส่วนไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 เศรษฐกิจขยายตัวเพียง 1.4% ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 4.5% หลังจากการส่งออกสินค้า หดตัวมากถึง 10.5% ซึ่งเป็นไปตามสถานการณ์ชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก สอดคล้องกับหลายประเทศอาเซียนที่มีอัตราการส่งออกชะลอตัวลงเช่นกัน ส่วนตัวชี้วัดอื่น ๆ ยังปรับตัวดีและเศรษฐกิจยังคงมีเสถียรภาพ
"ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2565 เศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจหลักทั่วโลกปรับตัวลดลง ถือเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าเศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยปี 2565 เศรษฐกิจโลกขยายตัว 3.3% ส่วนในปี 2566 คาดว่าเศรษฐกิจโลกโตแค่ 2.6% จากการส่งออกที่ชะลอตัว และปริมาณการส่งออกที่ลดลงด้วย" เลขาธิการ สศช.ระบุ
นายดนุชา กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2566 สศช.ได้ปรับประมาณการเติบโตลง จากเป้าหมายเดิมคาดว่าจะขยายตัว 3 - 4% เหลือแค่ขยายตัวได้ 2.7 - 3.7% หรือค่ากลางคือ 3.2% โดยฝากความหวังเรื่องการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวคอยขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นหลัก ควบคู่กับการบริโภคภายในประเทศ
เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 65 เจอภาวะช็อค
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ของปี 2565 ขยายตัว 1.4% ชะลอตัวลงจากการขยายตัว 4.6% ในไตรมาสที่สามของปี 2565 โดยเศรษฐกิจไตรมาสนี้ปรับลดลงแบบฉับพลัน หลังจากได้รับผลกระทบจากการส่งออก และเศรษฐกิจโลกชะลอตัว รวมถึงเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศจีนช่วงปลายปี
ด้านการใช้จ่าย : มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการส่งออกบริการ การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และการปรับตัวดีขึ้นของการลงทุนภาครัฐ ในขณะที่การส่งออกสินค้าและการใช้จ่ายอุปโภคบริโภคของภาครัฐปรับตัวลดลง แบ่งเป็น
ด้านการผลิต : สาขาเกษตรกรรมและสาขาก่อสร้างกลับมาขยายตัว ส่วนสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร สาขาการขายส่งขายปลีกและการซ่อมฯ และสาขาขนส่งและสถานที่เก็บสินค้ายังขยายตัวในเกณฑ์ดีตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ขณะที่สาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง แบ่งเป็น
เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ : อัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.15% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ 5.8% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ 3.2% สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 อยู่ที่ 2.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 มีมูลค่าทั้งสิ้น 10,587,313.0 ล้านบาท คิดเป็น 60.7% ของ GDP
เศรษฐกิจทั้งปี 2565 หลุดเป้า
เศรษฐกิจไทยปี 2565 ขยายตัว 2.6% เร่งตัวขึ้นจาก 1.5% ในปี 2564 แต่ก็หลุดเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าทั้งปีจะขยายตัว 3.2% โดย ด้านการใช้จ่าย การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 6.3% และการลงทุนภาคเอกชน ขยายตัว 5.1% การส่งออกบริการกลับมาขยายตัวในเกณฑ์สูง 65.7% เทียบกับการลดลง 19.9% ในปีก่อนหน้า ขณะที่การส่งออกสินค้าขยายตัว 1.3% ชะลอตัวลงจาก 15.3% ในปี 2564 ส่วนการลงทุนภาครัฐลดลง 4.9%
ด้านการผลิต สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารกลับมาขยายตัว 39.3% สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าเพิ่มขึ้น 7.1% และสาขาการขายส่งและการขายปลีกเพิ่มขึ้น 3.1% ส่วนสาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมงขยายตัว 2.5% ขณะที่สาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 0.4% และสาขาการก่อสร้างลดลง 2.7%
รวมทั้งปี 2565 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) อยู่ที่ 17.4 ล้านล้านบาท หรือ 4.95 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจาก 16.2 ล้านล้านบาท หรือ 5.05 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2564
ขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัวของคนไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 248,635.3 บาทต่อคนต่อปี หรือ 7,089.7 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนต่อปี เพิ่มขึ้นจาก 231,986.1 บาทต่อคนต่อปี หรือ 7,254.1 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อคนต่อปี ในปี 2564 สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 6.1% และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 3.4% ของ GDP
ปี 2566 คาดเศรษฐกิจไทยโต 3.2%
แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2566 คาดว่า จะขยายตัวในช่วง 2.7 – 3.7% (ค่ากลางของการประมาณการอยู่ที่ 3.2%) โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญจาก การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว การขยายตัวของการลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ การขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน และการขยายตัวในเกณฑ์ดีของภาคเกษตร
ทั้งนี้ คาดว่าการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัว 3.2% ส่วนการลงทุนภาคเอกชน ขยายตัว 2.1% และการลงทุนภาครัฐ ขยายตัว 2.7% และมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 1.6% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 2.5 – 3.5% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.5% ของ GDP