สถานการณ์ความยากจน นับเป็นปัญหาหนักอกของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย ที่พามยามหาทางแก้เท่าไหร่ก็ไม่หมดสิ้น โดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยและทุกประเทศทั่วโลกต่างเผชิญกับโรคระบาดร้ายแรงอย่างโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต และการหารายได้อย่างหนักให้กับผู้ที่มีรายได้น้อย และอาจทำให้มีครัวเรือนอีกจำนวนไม่ต้องต้องตกอยู่ในภาวะยากจน
จำนวนคนจนเป้าหมาย 2565
ล่าสุดมีตัวเลขของฐานข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform: TPMAP) รายงานจำนวนคนจนของประเทศไทย ซึ่งเป็น "คนจนเป้าหมาย" หรือ คนจนที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน เนื่องจากเป็นคนที่ได้รับการสำรวจว่าจนจากข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) กรมการพัฒนาชุมชน ที่มาลงทะเบียนว่าจนจากข้อมูลผู้ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ กระทรวงการคลัง
โดยข้อมูลปี 2565 เป็นการบูรณาการข้อมูลระหว่าง จปฐ. 2564 และ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 พบว่า "คนจนเป้าหมาย" ของประเทศไทยในปี 2565 มีอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น 1,025,782 คน
ทั้งนี้หากแยกเป็นรายจังหวัดพบว่า 10 จังหวัดแรกที่มีคนจนมากที่สุด คือ แม่ฮ่องสอน น่าน ยะลา ตาก บึงกาฬ ปัตตานี สตูล เชียงราย เชียงใหม่ และ เพชรบูรณ์
4 องค์กรรัฐดึงงานวิจัยแก้ยากจน
ไม่นานมานี้มีความร่วมมือด้านหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นคือการหยิบยกงานวิจัยมาช่วยแก้ปัญหาความยากจน โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ร่วมมือกับ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.)
ทั้ง 4 หน่วยงานมีเป้าหมายร่วมกันคือสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก และแก้ปัญหาความยากจนในประเทศ โดยเตรียมหารือเป้าหมายร่วมในการทำงานในสองกลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่
ดึงคนจนเป็นแรงงานมีรายได้สม่ำเสมอ
การหาทางสร้างและประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสมจากฐานข้อมูลกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.). เพื่อเสริมพลังแกนนำชาวบ้านที่ พอช. พัฒนาขึ้น ในการพัฒนาชุมชนโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจอาชีพ
รวมทั้งเร่งสร้างงาน สร้างอาชีพในชุมชนพื้นที่ รวมถึงการสร้างผู้ประกอบการในชุมชน โดยเฉพาะการขยายผลการพัฒนาท่องเที่ยวชุมชน (CBT) จาก อพท. เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ สร้างให้คนรุ่นใหม่เกิดสำนึกรักษ์ท้องถิ่นและพัฒนาพื้นที่ของตนเอง
ที่สำคัญอีกด้านนั่นคือ การสร้างผู้ประกอบการชุมชนและธุรกิจชุมชนให้มีศักยภาพทำธุรกิจ ดึงคนจนให้สามารถเป็นแรงงานที่มีรายได้สม่ำเสมอได้ โดยขยายผลจากงานวิจัยของ อว. รวมถึงการขับเคลื่อนและการสนับสนุนเชิงนโยบายของ สสว. ต่อไป