นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ตามที่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางมนัญญา ไทยเศรษฐ์ ได้ให้นโยบายการตรวจสอบผักผลไม้ก่อนการส่งออกโดยเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตร ของประเทศผู้นำเข้านั้น ๆ เพื่อลดขั้นตอนการตรวจสอบและอำนวยความสะดวกการนำเข้าผักผลไม้ไทย ณ ประเทศผู้นำเขาปลายทาง( Pre Clearance Program)
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้ประชุมกับ นาย มาร์ค กิลคีย์ South Asia-Pacific Regional Manager และ ดร.จอห์น ฟัลโค ซึ่งเป็นผู้แทนหน่วยงาน Animal and Plant Health Inspection Service (APHIS) ประจำประเทศไทย กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture: USDA) เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2565 เพื่อหารือความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา
โดยเฉพาะ โครงการตรวจสอบผลไม้สดไทยฉายรังสีก่อนการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐอเมริกา (Preclearance Program) อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้ขอให้ USDA ส่งเจ้าหน้าที่ Inspector เพื่อจัดทำ dose mapping สำหรับการฉายรังสี เพื่อกำจัดแมลงศัตรูพืชสำหรับส้มโอเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาให้ได้โดยไว
จากการหารือดังกล่าว ทาง USDA และ APHIS จึงได้ส่ง Mr. William J. Allen (Foreign Program Specialist) เจ้าหน้าที่ Inspector มาดำเนินการวัดค่าการกระจายตัวของรังสี (Dose mapping) เพื่อกำจัดแมลงศัตรูพืชสำหรับส้มโอเพื่อส่งออกไปสหรัฐอเมริการะหว่างวันที่ 17 เมษายน ถึงวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 และเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 Mr. William J. Allen ได้ประชุมร่วมกับอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เพื่อรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินการในโครงการดังกล่าว
โดยเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2566 กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา ( USDA ) ได้อนุญาตให้ไทยสามารถส่งออกส้มโอสดด้วยวิธีการฉายรังสีเข้าสู่สหรัฐอเมริกาได้เป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นผลไม้สดไทย ชนิดที่ 8 (มะม่วง มังคุด เงาะ ลำไย ลิ้นจี่ สับปะรด แก้วมังกร และส้มโอ) ที่สามารถส่งออกเข้าสหรัฐอเมริกาได้ในปัจจุบัน
โดยสหรัฐอเมริกา ได้อนุญาตให้นำเข้าส้มโอจากประเทศไทย แบบไม่จำกัดพันธุ์ มั่นใจรสชาติ และ สีสัน ส้มโอไทยมัดใจผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยสามารถส่งออกส้มโอผลสดไปจำหน่ายต่างประเทศ ได้จำนวน 30 ประเทศ มีตลาดหลักที่สำคัญได้แก่ จีน และมาเลเซีย ในปี 2565 ประเทศไทยส่งออกส้มโอจำนวน 1.68 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 45.55 ล้านบาท
นายปัญญา พุกสุ่น ผู้อำนวยการสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กล่าวว่า ประเทศไทยมีส้มโอมากกว่า 30 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ทับทิมสยาม เปลือกผลบาง เนื้อนิ่มมีสีชมพูเข้มหรือสีแดงเข้มคล้ายทับทิม มีเมล็ดน้อย รสชาติหวานไม่มีรสขมเจือปน พันธุ์ขาวแตงกวา ผนังกลีบสีขาว เปลือกบาง รสชาติหวานฉ่ำ และ พันธุ์ทองดี ผิวเรียบ ผนังกลีบสีชมพู รสชาติหวาน ฉ่ำน้ำ ซึ่งส้มโอไทยแต่ละพันธุ์มีรสชาติและสีสันที่เป็นเอกลักษณ์แตกต่างจากส้มโอจากประเทศอื่น ทำให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี
รวมทั้งยังเป็นผลไม้ที่สามารถเก็บรักษาได้ระยะเวลายาวนาน จึงเหมาะสมต่อการขนส่งทั้งทางเรือเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางการตลาด
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า เดือนมิถุนายนนี้ ส้มโอสดไทยล็อตแรกที่จะส่งออกไปจำหน่ายที่สหรัฐอเมริกา ตนจะดำเนินการร่วมตรวจสอบและปิดผนึกตู้ขนส่งสินค้าด้วยวิธีการขนส่งทางอากาศก่อนทางเรือ เนื่องจากเป็นการทดสอบการส่งออกจริงล็อตแรกเพื่อสร้างความเชื่อมั่นของทุกฝ่าย ทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการส่งออก และนำเข้า รวมถึง กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา ( USDA) และ ตนเองในฐานะที่ทำหน้าที่หัวหน้าหน่วยงานองค์การอารักขาพืชแห่งชาติ (National Plant Protection Organization, NPPO) ตามอนุสัญญาว่าด้วยการอารักขาพืชระหว่างประเทศ ซึ่งกรมวิชาการเกษตรถือเป็นหน่วยงานอารักขาพืชที่รับผิดชอบโดยตรงของประเทศไทยแห่งเดียว
สำหรับเงื่อนไขการส่งออกส้มโอผลสดไปสหรัฐอเมริกานั้นผลผลิตต้องมาจากแหล่งผลิตที่ได้รับการรับรอง GAP โรงคัดบรรจุได้รับการรับรองตามมาตรฐาน GMP ก่อนการส่งออกต้องทำความสะอาดและกำจัดแมลงศัตรูพืช และเชื้อรา ตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร อย่างเคร่งครัด รวมทั้งผู้ส่งออกต้องลงทะเบียนเข้าร่วม “โครงการตรวจสอบผลไม้ฉายรังสีก่อนการส่งออก” กับกรมวิชาการเกษตร
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลผลิตส้มโอที่จะส่งออกต้องผ่านการฉายรังสีที่ 400 เกรย์ เพื่อกำจัดแมลงวันผลไม้ต้องผ่านฉายรังสีที่ศูนย์ฉายรังสีคลอง 5 สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ โดยเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรจะร่วมตรวจสอบกระบวนการฉายรังสีกับเจ้าหน้าที่ APHIS กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา USDA ที่มาประจำการ ณ ประเทศทุกล็อตที่ส่งออกและออกใบรับรองสุขอนามัยพืช
"เพื่อการอนุญาตนำเข้าส้มโอจากไทยต้องผ่านการฉายรังสีดังกล่าวก่อนการส่งออก (Pre Clearance) ผู้ที่ต้องการส่งออกส้มโอผลสดไปสหรัฐอเมริกาสามารถสอบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กลุ่มวิจัยการกักกันพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร โทรศัพท์ 0-2579 3496 และ 0- 2940 6670 ต่อ 142" อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวตอนท้าย