แข่งเดือด ตลาดทุเรียนในจีน ยอดสั่งผ่านแพลตฟอร์มส่งอาหาร 711%

30 พ.ค. 2566 | 04:38 น.
อัปเดตล่าสุด :30 พ.ค. 2566 | 05:04 น.

ตลาดทุเรียนในจีน ไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ แข่งขันเดือด สะท้อนผ่านยอดสั่งผ่านแอปโต 711 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2565

เว็บไซต์ Global Times รายงานว่า บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนถึงกลางเดือนพฤษภาคม ยอดขายทุเรียนบนแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารของจีน ชื่อว่า Meituan เพิ่มขึ้น 711 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2565 ยอดขายในอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ยทางตอนกลางของจีนเพิ่มขึ้น 20 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2565

อ่านเพิ่มเติม : ทุเรียนไทย สั่นคลอน เมื่อคู่แข่งรุกชิงตลาดจีน

 

สถิติแสดงให้เห็นว่า จีนนำเข้าทุเรียนในปีนี้มากกว่าปีก่อนหน้า ข้อมูลจาก สำนักงานศุลกากรจีน (GAC) ระบุว่า ทุเรียนสด 91,000 ตัน ถูกนำเข้าในไตรมาสแรกของปี 2566 เพิ่มขึ้น 154.3 เปอร์เซ็นต์จากปีที่แล้ว

ทั้งนี้ การเติบโตของการนำเข้าทุเรียนได้รับความช่วยเหลือจากการเชื่อมโยงการค้าที่เพิ่มขึ้นของจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศต่างๆ ได้แก่ ไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ได้เพิ่มความพยายามในการขยายเข้าสู่ตลาดจีน

ผู้เชี่ยวชาญจาก Think Tank Digital Real Economy Integration Forum 50 ระบุว่า การนำเข้าทุเรียนที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ได้รับแรงสนับสนุนจากความต้องการผลไม้นำเข้าและการดำเนินนโยบายนำเข้าและการลดภาษี มาตรการส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจนำเข้าทุเรียน โดยนับตั้งแต่ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มีผลบังคับใช้ สินค้าเกษตรจากสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เข้าสู่ตลาดจีนเพิ่มมากขึ้น

ในเดือนกรกฎาคม 2565 ทุเรียนสดจากเวียดนามได้รับอนุญาตให้เข้าสู่ตลาดจีนอย่างเป็นทางการ ขณะที่เดือนมกราคม 2566 ศุลกากรจีน เริ่มอนุญาตให้นำเข้าทุเรียนสดจากฟิลิปปินส์ ปัจจุบัน ไทย มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์เป็นซัพพลายเออร์หลักในการส่งออกทุเรียนไปยังจีน

Dole Food Co ผู้นำเข้ารายใหญ่ระบุว่า ฤดูกาลทุเรียนจากฟิลิปปินส์อยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน และตั้งแต่เดือนสิงหาคม-ตุลาคมของทุกปี ซึ่งชดเชยตลาดทุเรียนไทยที่ขาดช่วง นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจพบว่า จีนเป็นผู้บริโภคทุเรียนรายใหญ่อันดับสามรองจากอินโดนีเซียและมาเลเซีย และคาดว่าจีนจะกลายเป็นผู้บริโภคทุเรียนรายใหญ่ที่สุดภายในปี 2573

ด้าน Chen Jia นักวิจัยอิสระด้านยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ ระบุว่า การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและความเชื่อมโยงภายใต้ Belt and Road Initiative (BRI) และ RCEP ทำให้การขนส่งผลไม้ไปจีนง่ายขึ้นสำหรับผู้ส่งออก 

ทั้งนี้ การส่งออกทุเรียนไปยังตลาดจีนคาดว่าจะเติบโตแบบทวีคูณจากการดำเนินการอย่างต่อเนื่องของ BRI และ RCEP และประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ต่างพยายามยกระดับความพยายามเพื่อคว้าตลาดจีน

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ของไทย ระบุว่า จีนเป็นตลาดส่งออกทุเรียนที่ใหญ่ที่สุดของไทย โดยในปี 2565 คิดเป็น 96 เปอร์เซนต์ของการส่งออกทั้งหมด

ข้อมูล : globaltimes