“แลนด์บริดจ์” ชุมพร-ระนอง เช็คไทม์ไลน์เชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน ที่นี่

23 ต.ค. 2566 | 03:57 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ต.ค. 2566 | 04:30 น.

เช็คไทม์ไลน์ “แลนด์บริดจ์” โครงการการลงทุนขนาดใหญ่กว่า 1 ล้านล้าน เชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน ในพื้นที่จังหวัด ชุมพร–ระนอง ตั้งแต่ปี 2566 - 2573 ทำอะไรบ้างได้ที่นี่

โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือ “แลนด์บริดจ์” โครงการลงทุนขนาดใหญ่วงเงิน 1,001,206.47 ล้านบาท เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประตูและทางเชื่อมโครงข่ายคมนาคมและโลจิสติกส์ของภูมิภาค เป็นนโยบายสำคัญที่รัฐบาลใช้เป็นแม่เหล็กดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

ตามไทม์ไลน์รัฐบาลตั้งเป้าหมายว่า หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ให้ความเห็นชอบโครงการ การพัฒนาโครงการ “แลนด์บริดจ์” เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมาแล้ว หลังจากนี้จะมีการรับฟังความเห็นจากนักลงทุนต่างประเทศ จัดทำกฎหมายและจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายและสำนักงานนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) 

จากนั้นจะมีการออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน และจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน คัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน ก่อสร้างโครงการ โดยตั้งเป้าหมายเปิดให้บริการ ในเดือนตุลาคม 2573 ดังนี้

ไทม์ไลน์ โครงการ “แลนด์บริดจ์” 2566-2573

  • ตุลาคม 2566 คณะรัฐมนตรีรับทราบโครงการ
  • พฤศจิกายน 2566 - มกราคม 2567 รับฟังความเห็นจากนักลงทุนต่างประเทศ (Road Show) 
  • มกราคม - ธันวาคม 2567 จัดทำกฎหมายพระราชบัญญัติระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) 
  • ธันวาคม 2567 ตั้งคณะกรรมการนโยบายและสำนักงานนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC)
  • เมษายน - มิถุนายน 2568 คัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน 
  • มกราคม 2568 - ธันวาคม 2569 ออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน และจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน
  • กรกฎาคม - สิงหาคม 2568 เสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติลงนามในสัญญา 
  • กันยายน 2568 - กันยายน 2573 ดำเนินการก่อสร้างโครงการแลนด์บริดจ์
  • ตุลาคม 2573 เปิดให้บริการ

ไทม์ไลน์ โครงการ “แลนด์บริดจ์” 2566-2573

รูปแบบการลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ เป็นการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership หรือ PPP) ซึ่งเป็นการให้สิทธิแก่เอกชนลงทุนในการก่อสร้างและการบริหารจัดการ เป็นระยะเวลา 50 ปี

โดยกำหนดให้ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนโครงการทั้งโครงการ ประกอบด้วย ท่าเรือ ทางรถไฟ ขนาด 1.435 เมตร และมอเตอร์เวย์ รวมถึงการพัฒนาพื้นที่หลังท่า

ขณะที่ภาครัฐทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการเวนคืนที่ดิน ลงทุนทางรถไฟขนาด 1.0 เมตร และกำหนดสิทธิประโยชน์ให้กับเอกชนผู้ร่วมลงทุนในโครงการ และกำหนดสิทธิประโยชน์ให้เอกชนผู้ร่วมลงทุนในโครงการ โดยแบ่งการลงทุนเป็นระยะ ดังนี้

แผนลงทุน “แลนด์บริดจ์” ฝั่งท่าเรือฝั่งระนอง-ท่าเรือชุมพร

การลงทุนท่าเรือฝั่งระนอง  3 ระยะ 

  • ระยะที่ 1 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าจำนวน 6 ล้าน TEUs ในปี พ.ศ. 2573
  • ระยะที่ 2 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น 6 ล้าน TEUs รวมเป็น 12 ล้าน TEUs ในปี พ.ศ. 2577 
  • ระยะที่ 3 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น 8 ล้าน TEUs รวมเป็น 20 ล้าน TEUs ในปี พ.ศ. 2579

การลงทุนท่าเรือฝั่งชุมพร  4 ระยะ 

  • ระยะที่ 1 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าจำนวน 4 ล้าน TEUs ในปี พ.ศ. 2573
  • ระยะที่ 2 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น 4 ล้าน TEUs รวมเป็น 8 ล้าน TEUs ในปี พ.ศ. 2577
  • ระยะที่ 3 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น 6 ล้าน TEUs รวมเป็น 14 ล้าน TEUs ในปี พ.ศ. 2579 
  • ระยะที่ 4 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น 6 ล้าน TEUs รวมเป็น 20 ล้าน TEUs ในปี พ.ศ. 2582

ประมาณการลงทุนโครงการ “แลนด์บริดจ์” 1,001,206.47 ล้านบาท

ระยะที่ 1 522,844.08 ล้านบาท ประกอบด้วย

  • งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร จำนวน 118,519.50 ล้านบาท
  • งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งระนอง จำนวน 141,716.02 ล้านบาท
  • งานก่อสร้างเส้นทางเชื่อมโยง 2 ท่าเรือ จำนวน 195,504.00 ล้านบาท
  • งานก่อสร้างพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า จำนวน 60,892.56 ล้านบาท
  • ค่าเวนคืนและจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำนวน 6,212.00 ล้านบาท

ระยะที่ 2 จำนวน 164,671.83 ล้านบาท ประกอบด้วย

  • งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร จำนวน 45,644.75 ล้านบาท
  • งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งระนอง จำนวน 73,164.78 ล้านบาท
  • งานก่อสร้างเส้นทางเชื่อมโยง 2 ท่าเรือ จำนวน 21,910.00 ล้านบาท
  • งานก่อสร้างพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า จำนวน 23,952.30 ล้านบาท

ระยะที่ 3 จำนวน 228,512.79 ล้านบาท ประกอบด้วย

  • งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร จำนวน 73,221.99 ล้านบาท
  • งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งระนอง จำนวน 115,929.76 ล้านบาท
  • งานก่อสร้างพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า จำนวน 39,361.04 ล้านบาท

ระยะที่ 4 จำนวน 85,177.77 ล้านบาท ประกอบด้วย

  • งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร จำนวน 68,280.20 ล้านบาท
  • งานก่อสร้างพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า จำนวน 16,897.57 ล้านบาท