คดีหมูเถื่อน 161 ตู้ ที่ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เร่งดำเนินการขยายผล และมีการส่งสำนวน ป.ป.ช. เอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐ ประมาณ 10 รายแล้วนั้น ล่าสุด 2 บริษัทชิปปิ้ง ที่ดีเอสไอเตรียมขอศาลออกหมายจับ คือ บริษัท ศิขัณทิน เทรดดิ้ง จำกัด และ บริษัท สมายล์ ท็อป เค เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด โดยมี นายบริบูรณ์ ลออปักษิณ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม
ได้เข้าพบพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ โดย พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีหมูเถื่อ น เปิดเผยว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้มารับทราบข้อกล่าวหาพร้อมกับให้ข้อมูล และเอกสารบางส่วนแก่พนักงานสอบสวนแล้ว เช่น คำฟ้องศาลปกครองและหนังสือร้องเรียนถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
พ.ต.ต.ณฐพล เปิดเผยว่า ทั้ง 2 บริษัทนั้นเป็นบริษัทชิปปิ้งและนำเข้าสินค้าอาหารแช่แข็งหลายชนิดเพื่อส่งออกไปขายที่ สปป.ลาว เบื้องต้นได้แจ้งข้อหานำของผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดเกี่ยวกับของนั้น ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 และนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558
บริษัท ศิขัณทิน เทรดดิ้ง จำกัด
ประกอบกิจการจำหน่ายอาหารสัตว์ทุกประเภท จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2563 ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 15,17 ซอย5 ถนนเทศบาล ต.บ้านหมี่ อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี
จากการตรวจสอบข้อมูลการนำส่งงบการเงินล่าสุด ปี2565 พบว่า บริษัท มีสินทรัพย์รวม 429,045 บาท และหนี้สินรวม 95,263 บาท มีรายได้รวม 8,536,258 บาท รายจ่ายรวม 8,007,466 บาท มีกำไรสุทธิ 493,133 บาท
บริษัท สมายล์ ท็อป เค เอ็นเตอร์ไพรส์
ประกอบกิจการนำเข้าและจำหน่ายอาหารสัตว์ทุกประเภท อาหารแช่แข็งทุกประเภท ทั้งในและต่างประเทศ จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2564 ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 15,17 ซอย5 ถนนเทศบาล ต.บ้านหมี่ อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี
จากการตรวจสอบข้อมูลการนำส่งงบการเงินล่าสุด ปี2565 พบว่า บริษัท มีสินทรัพย์รวม 1,060,377 บาท และหนี้สินรวม 209,422 บาท มีรายได้รวม 9,189,340 บาท รายจ่ายรวม 8,649,300 บาท มีกำไรสุทธิ 504,034บาท
ทั้งนี้ นายบริบูรณ์ เปิดเผยหลังเข้าพบพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ว่าบริษัททั้ง2 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการค้าหมูเถื่อน และไม่ได้ส่งจำหน่ายในประเทศไทยแต่อย่างใด
ส่วนของเนื้อหมูที่เกิดปัญหานั้น ทั้ง 2 บริษัทได้มีการสั่งนำเข้าจากต่างประเทศมาทั้งหมด 41 ตู้ เมื่อเดือน สิงหาคม 2565 อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่กรมปศุสัตว์ไม่อนุญาตให้เคลื่อนย้าย จนเป็นเหตุให้มีการยื่นฟ้องศาลปกครองเพื่อเอาผิดกรมปศุสัตว์ เนื่องจากได้รับความเสียหายต่อธุรกิจ เพราะต้องเสียค่าไฟให้กับท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี วันละ 500,000 บาท
และได้มีการทำหนังสือร้องเรียนไปยังรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อขอความเป็นธรรมแล้ว เพราะเชื่อว่าถูกกลั่นแกล้งจากข้าราชการที่บริษัทของตนเคยร้องเรียน