เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เผยแพร่เอกสารลับการประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2566 และ ปี 2567 ของกระทรวงการคลัง ที่จะแถลงในวันนี้(24 ม.ค.67) โดยระบุว่า สรุปแล้วผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไทยในปี 2566 เติบโตเพียง 1.8% เทียบกับที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์เอาไว้เมื่อต้นปี 2566 ว่าจะเติบโตถึง 3.6% ถือเป็นการเติบโตที่ถดถอยลงกว่าปี 2565 ที่เติบโต 2.6%
สาระสำคัญของเอกสารแถลงข่าวฉบับดังกล่าวได้ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 และ 2567 ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 1.8 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.6 ถึง 2.0) ชะลอลงจากปี 2565 ที่ขยายร้อยละ 2.6 โดยมีปัจจัยสำคัญจากการหดตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะสินค้าในหมวดยานยนต์ และคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์
กระทรวงการคลังคาดการณ์ว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งปี 2566 จะหดตัวที่ร้อยละ -1.5 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -1.8 ถึง -1.3 ซึ่งเป็นผลจากอุปสงค์ที่ชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ขณะที่มูลค่าการนำเข้าจะหดตัวที่ร้อยละ -1.9 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.2 ถึง -1.7)
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในปี 2566 มาจากภาคการท่องเที่ยวมีการขยายตัวสูง และการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ
“ฐานเศรษฐกิจ” ตรวจสอบพบว่า ในท้ายเอกสารฉบับดังกล่าวกระทรวงการคลังได้จัดทำตารางสมมติฐานและผลการประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 และ 2567 โดยมีตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าสนใจที่ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพียง 1.8% นั้นมีสาเหตุสำคัญจาก 2 เครื่องยนต์สำคัญทางเศรษฐกิจติดลบ คือ การใช้จ่ายภาครัฐและการส่งออก
กระทรวงการคลังประเมินว่าในปี 2566 การบริโภคภาครัฐติดลบ 3.6% จากช่วงคาดการณ์ -3.9 ถึง -3.4% การลงทุนภาครัฐติดลบ 0.2% จากช่วงคาดการณ์ -0.5 ถึง 1.0%
ขณะที่มูลค่าการส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 คาดว่าจะติดลบ 1.5% จากช่วงคาดการณ์ -1.8 ถึง -1.3%
การบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 7.1% การลงทุนภาคเอกชนขายตัว 2.8% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1.2% อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ 1.3%