นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 ถึงปัจจุบันซึ่งเป็นช่วงที่ผลผลิตมันสำปะหลังฤดูกาลผลิตปี 2566/67 ของไทยและประเทศเพื่อนบ้านเริ่มออกสู่ตลาด กรมฯ ได้เพิ่มความถี่การส่งชุดตรวจลงพื้นที่ตามด่านนำเข้ามันเส้นทั่วประเทศ เนื่องจากทราบว่ายังคงมีการลักลอบนำเข้ามันเส้นด้อยคุณภาพ หากไม่จัดการอย่างเข้มงวดจะส่งผลกระทบต่อราคามันสำปะหลังในประเทศ
โดยภายหลังจากที่ได้ส่งระดับผู้บริหารกรมฯ ลงพื้นที่เมื่อกลางเดือนมกราคม 2567 ตนได้สั่งการให้ชุดตรวจของกรมฯ อยู่ปฏิบัติงานต่อเนื่อง และเมื่อปลายเดือนมกราคม 2567 ชุดตรวจได้ตรวจพบผู้นำเข้ามันเส้นด้อยคุณภาพบริเวณด่านช่องเม็ก จังหวัดอุบลราชธานี และด่านบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ เพิ่มอีก 5 ราย ทำให้นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 ถึงปัจจุบัน กรมฯ ได้ลงโทษผู้นำเข้ามันเส้นด้อยคุณภาพรวมแล้วถึง 15 ราย โดยการระงับไม่ให้นำเข้าเป็นการชั่วคราว
กรมฯ มีนโยบายชัดเจนในการป้องกันมันเส้นด้อยคุณภาพไม่ให้เข้าประเทศ นอกจากจะส่งชุดตรวจลงพื้นที่ต่อเนื่องแล้ว ยังได้ยกระดับมาตรการโดยส่งระดับผู้บริหารกรมฯ และชุดตรวจพิเศษ ซึ่งมีข้าราชการระดับชำนาญการพิเศษ เป็นหัวหน้าชุด ลงพื้นที่สนับสนุนการปฏิบัติงานของชุดตรวจเพื่อให้เป็นไปอย่างเข้มงวด และเป็นการสื่อสารให้ผู้นำเข้าเล็งเห็นถึงความสำคัญของคุณภาพสินค้า และร่วมกับชุดตรวจของกรมการค้าภายใน ซึ่งรับผิดชอบเรื่องการลักลอบขนย้ายมันเส้น ตรึงพื้นที่ตามแนวชายแดนตลอดฤดูกาลผลิตมันสำปะหลัง
นายรณรงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า มันสำปะหลังถือเป็นสินค้าเกษตรสำคัญ มีเกษตรกรจำนวนกว่า 5 แสนครัวเรือน ที่พี่งพารายได้จากการเพาะปลูกมันสำปะหลัง หากปล่อยให้มันเส้คุณภาพต่ำเข้ามา ก็จะมีผลกระทบต่อราคามันสำปะหลังในประเทศ เกษตรกรจำนวนมากจะได้รับความเดือดร้อน การเข้มงวดกวดขันในเรื่องคุณภาพสินค้าจึงเป็นสิ่งที่กรมฯ ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง หากพบว่าด่านใดยังมีการนำเข้ามันเส้นคุณภาพต่ำอยู่ หรือพบว่าผู้นำเข้าไม่ให้ความร่วมมือกับชุดตรวจ ก็จะสั่งการให้เพิ่มความถี่ในการตรวจสอบด่านนั้นขึ้นอีก
“นอกจากเข้มงวดในการสกัดกั้นการนำเข้ามันเส้นด้อยคุณภาพตามแนวชายแดนแล้ว ยังได้สั่งให้เพิ่มความถี่การสุ่มตรวจคุณภาพมันเส้นส่งออกควบคู่ไปด้วย การควบคุมคุณภาพสินค้าทั้งขาเข้าและขาออก นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรแล้ว ยังช่วยให้การขยายตลาดมันเส้นไปยังประเทศใหม่ๆ ทำได้ง่ายขึ้นเนื่องจากคุณภาพสินค้าเป็นที่ยอมรับ”
กรมฯ อยู่ระหว่างแสวงหาตลาดมันเส้นในกลุ่มประเทศเป้าหมายใหม่ๆ เพื่อลดการพึ่งพาตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดหลักในปัจจุบัน โดยหากไทยมีประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้น ผู้ส่งออกไทยก็จะมีอำนาจต่อรองมากขึ้น สุดท้ายแล้วผลประโยชน์ก็จะตกอยู่ที่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังของไทย