ธุรกิจแบงก์ปี 68 เหนื่อย เศรษฐกิจโตต่ำ ดอกเบี้ยขาลง 

26 ธ.ค. 2567 | 08:56 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ธ.ค. 2567 | 08:56 น.

แบงก์ไทยพาณิชย์ชี้ ปี68 ธุรกิจแบงก์เหนื่อย เศรษฐกิจโตจำกัด แนวโน้มดอกเบี้ยขาลง การค้าโลกยังผันผวน แต่พร้อมช่วยลดหนี้ครัวเรือน หนุนสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน ด้านออมสินมองภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี68 ยังไม่ดีมาก หวังมาตรการรัฐกระตุ้นอีกระลอก

แม้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ครั้งสุดท้ายของปี จะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.25% ต่อไป แต่ปี 2568 ตลาดมองว่า มีความเป็นไปได้ที่กนง. อาจปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมอีกราว 2 ครั้ง ท่ามกลางความเสี่ยงเศรษฐกิจที่สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ ขณะที่ทิศทางเงินเฟ้อในปี 2568 ยังมีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำกว่าเป้าหมายของกนง. ที่ 1-3% 

สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมธนาคารในปี 2568 มีความท้าทายพอสมควร เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น และภายใต้เศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงอยู่ และแนวโน้มดอกเบี้ยขาลง ดังนั้นทิศทางการได้มาของรายได้หรือกำไรจะน้อยกว่าอุตสาหกรรมอื่น 

นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ไทยพาณิชย์หรือ SCB เปิดเผยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมธนาคารปี 2568  ภายใต้ความเสี่ยงที่ยังคงอยู่  โดยคาดว่า เศรษฐกิจปี 2568 จะขยายตัว 2.4% ต่ำกว่าปีนี้ที่จะจบที่ 2.7%

นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ไทยพาณิชย์

ขณะที่กลุ่มธุรกิจของไทยที่ยังไปต่อได้ เช่น นิคมอุตสาหกรรม อิเล็กทรอนิกส์บางเซ็กเตอร์ โกดัง ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับอาหาร-อาหารกระป๋อง การแพทย์ และธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว 

โดยยอมรับว่า กลุ่มธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบจากนโยบายของทรัมป์ เช่น สินค้าจากจีนเข้ามากระทบสินค้าไทย/ การเข้ามาเปิดโรงงานในไทยเพื่อบริหารจุดส่งออก ซึ่งพวกนี้คือ กลุ่มเสี่ยง

นอกจากนี้กลุ่มธุรกิจที่แนวโน้มยังเหนื่อย ได้แก่ ประเภทสินค้าเกี่ยวกับเหล็ก ยาง เกษตร รวมทั้งภาคธนาคาร เพราะกลุ่มดังกล่าวอยู่ในพอร์ตของธนาคาร ซึ่งธนาคารจะเข้าไปช่วยลูกค้า 

ตัวเลขอัตราการขยายตัวของจีดีพี

อย่างไรก็ตาม ทิศทางของรายได้และกำไรแบงก์จะน้อยกว่าอุตสาหกรรมอื่น ส่วนหนึ่งมาจากต้นทุนที่ยังสูงและค่าธรรมเนียมยังคงลดลง ซึ่งสร้างแรงกดดันต่อรายได้แบงก์ และแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเฉลี่ย 0.25% จะส่งผลกระทบต่อรายได้หายไปประมาณ 5,000-10,000 ล้านบาท

“ถือเป็นความท้าทายของธุรกิจแบงก์ ขณะที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างจำกัด โดยกำไรมาจากสินเชื่อไม่โตเหมือนกันหมด ส่วนรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยทุกคนก็แข่งขันกันหมด แต่ผมคาดว่า จะลดต้นทุนลงได้เร็วกว่า และเชื่อว่ารายใหญ่จะมีโอกาสมาก และแบงก์จะแข่งขันดูแลลูกค้ารายใหญ่และธุรกิจเวลธ์”

สำหรับโจทย์ของธุรกิจธนาคารประกอบด้วย 3 เรื่องหลักคือ

  1. ปัญหาสัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง (แม้ว่ามาตรการแก้หนี้ 11 ธ.ค.จะช่วยได้ระดับหนึ่ง) แต่การบริหารความมั่งคั่ง หรือ Wealth Management จะช่วยงบดุลของครัวเรือนไม่เสี่ยงเกินไป ช่วยคนไทยบริหารหนี้และการเงินได้ถูกต้องและเหมาะสม เป็นโจทย์ที่ธนาคารพาณิชย์ต้องทำ 
  2. ธนาคารพาณิชย์ต้องปรับใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วย
  3. สนับสนุนธุรกิจคนไทยไปสู่ความยั่งยืน โดยธนาคารจะสนับสนุนทุกองคาพยพไปสู่ความยั่งยืนและตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนไปแล้วกว่า 1.3 แสนล้านบาท

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร กสิกรไทย (Kbank)กล่าวว่า ปี 2568 ยังเต็มไปด้วยความท้าทายไม่น้อยไปกว่าปีนี้ แต่กสิกรไทยยังมุ่งมั่นเป้าหมายคือ ส่งมอบผลตอบแทนที่ยั่งยืนให้กับผู้มีส่วนได้เสีย ไม่ว่าจะเป็น ลูกค้า ผู้ถือหุ้น พนักงงาน  ผู้กำกับดูแล สังคมและประเทศไทย

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร กสิกรไทย

ผ่านการสร้างอัตราผลตอบแทนของส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) เพิ่มขึ้นเป็นตัวเลข 2 หลัก หรือ Double digits ภายในปี 2569 

ทั้งนี้การที่จะทำให้ ROE จะเป็นไปตามเป้าหมาย ยังเชื่อมั่นใน กลยุทธ์ 3+1 ซึ่งหลายๆ ธนาคารในต่างประเทศมี ROE เป็น Double digits กันจำนวนมาก แต่ธนาคารพาณิชย์ในไทยเองยังไปไม่ถึง จากปัญหาด้านรายได้และค่าใช้จ่าย ทำให้ ROE ของธนาคารพาณิชย์ไทยยังอยู่เพียง Single digit  ให้กสิกรไทยต้องการที่จะผลักดันในเรื่องนี้เพื่อก้าวขึ้นสู่ธนาคารพาณิชย์ในระดับสากล 

สำหรับ การขยายตัวของเศรษฐกิจไทย KBANK คาดว่า ปี  2568 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้แค่ 2.4%  จากปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัว 2.6% ถือเป็นระดับที่ค่อนข้างต่ำมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง และยังต้องใช้ระยะเวลาอีกมากในการปรับเปลี่ยน ทำให้เศรษฐกิจไทยยังเติบโตได้น้อยกว่าศักยภาพ

ขณะเดียวกันยังต้องจับตานโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ จากการที่ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐ หากมีการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าก็จะกระทบโดยตรงต่อการส่งออกของไทย แต่ก็อาจชดเชยได้บ้างด้วยการปรับขึ้นราคาขาย  แต่ก็ถือว่า ยังมีความไม่แน่นอน และสร้างความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการใช้มาตรการภาษีเข้ามากีดกันการค้า ซึ่งจะกระทบต่อภาคธุรกิจไทย 

นอกจากนั้น ยังมีปัญหาด็นที่ต้องมีการแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อภาคธุรกิจเอสเอ็มอีของไทย คือ การที่สินค้าจากจีนที่ถูกสหรัฐกีดกันการค้าจะทะลักเข้ามาขายในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งเป็นสินค้าที่ขายแบบเดียวกันแต่ราคาถูกกว่า เป็นปัญหาที่จะต้องมีการแก้ไขและหาแนวทางในการป้องกัน เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจของไทยให้อยู่รอดได้ 

นางสาวขัตติยา กล่าวว่า ธนาคารกสิกรไทยยังคงให้ความสำคัญกับกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีเป็นสำคัญ เพราะถือเป็นกลุ่มธุรกิจที่สามารถช่วยผลักดันเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ขับเคลื่อนไปได้ โดยพยายามหาแนวทางเข้าไปช่วยเหลือให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยเฉพาะการเข้าไปช่วยหาตลาดใหม่ ๆ รวมถึงเปิดโอกาสให้มีการเข้ามาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้เพื่อทำให้ธุรกิจเดินหน้าต่อ

"ต้องปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทย หากเรายังเป็นเศรษฐกิจยุคเก่า เราก็คงสู้เขาไม่ได้ แต่ระยะสั้นคงยังแก้ไม่ได้หรอก ฉะนั้นเราต้องช่วยเขาหาตลาดใหม่ เพราะถ้าขายตลาดเดิมก็ยังเจอคู่แข่งเยอะ ไปที่ประเทศอื่นๆที่เขายังไม่เคยไป และผลิตภัณฑ์เหล่านี้ยังใช้ได้อยู่" นางสาวขัตติยากล่าว 

สำหรับแผนงานปี 68 ธนาคารมุ่งมั่นที่จะเพิ่ม Productivity ผ่านการนำเทคโนโลยีและ AI เข้ามาใช้ในกระบวนการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารสามารถขยายสินเชื่อในกลุ่มลูกค้าศักยภาพ โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าเดิม 

ขณะเดียวกันธนาคารก็ยังคงใช้ความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อเพื่อควบคุมคุณภาพหนี้ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและบริหารจัดการได้คือควบคุมไม่ให้เกิน 3% โดยในปีหน้าวางงบ 10% ของกำไรสุทธิไว้รองรับการลงทุนในเทคโนโนยี นวัตกรรม และ AI ที่จะนำมาใช้ในการทำงานด้านต่างๆ คาดว่าจะเห็นผลชัดเจนใน 2-3 ปีข้างหน้า

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,056 วันที่ 26 - 28 ธันวาคม พ.ศ. 2567