โครงการ "เงินดิจิทัล 10,000 บาท" เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ยังมีประเด็นปัญหาที่ต้องส่งเรื่องให้ "คณะกรรมการกฤษฎีกา" ตีความเกี่ยวกับแหล่งเงินที่รัฐบาลจะนำมาแจกให้กับเกษตรกร อยู่ภายใต้หน้าที่และอำนาจ และอยู่ภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) หรือไม่
ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้เสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา เกี่ยวกับการให้ ธ.ก.ส. ร่วมสนับสนุนการดำเนินโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต และให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เกษตรกรว่า ควรมีความชัดเจนทางกฎหมายว่าการดำเนินการดังกล่าวอยู่ภายใต้หน้าที่และอำนาจ และอยู่ภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ของ ธ.ก.ส. ตามมาตรา 9 และมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. 2509 ประกอบกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง หรือไม่
นอกจากนี้ จะต้องกำหนดกลไกการเติมเงินให้เกษตรกรแยกส่วนจากการเติมเงินให้ประชาชนทั่วไปอย่างชัดเจน ทั้งอาจต้องจำกัดขอบเขตการใช้จ่ายให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของ ธ.ก.ส. ด้วย เพื่อไม่ให้เกิดการใช้งบประมาณผิดประเภท
“ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความถูกต้อง และรอบคอบ จึงเสนอให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงการคลังหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อน ดังเช่นที่ได้เคยหารือในประเด็นกิจการอันพึงเป็นงานธนาคารออมสิน ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติ ธนาคารออมสิน พ.ศ. 2489 แล้ว”ธปท.ระบุ
ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่า กรณีที่กระทรวงการคลังมีข้อเสนอเพิ่มเติม ให้มอบหมายสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแหล่งเงินโดยการดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวนประมาณ 172,300 ล้านบาท นั้น
หากเป็นการมอบหมายให้ ธ.ก.ส. ดำเนินโครงการ จะต้องเป็นการดำเนินการที่อยู่ภายในขอบวัตถุประสงค์และในหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายของ ธ.ก.ส. ตามพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ.2509 ตามนัยมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 และกระทรวงการคลังกับ ธ.ก.ส. จะต้องประมาณการสูญเสียรายได้ และประโยชน์ที่จะได้รับ และเสนอครม. เพื่ออนุมัติในรายละเอียด จัดทำแผนบริหารจัดการโครงการ ประมาณการรายจ่าย แหล่งเงินที่ใช้ตลอดระยะเวลาดำเนินการ ก่อนดำเนินโครงการตามนัยมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อไปด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
26 เมษายน 2567 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) ธ.ก.ส. เปิดเผยภายหลังการประชุมบอร์ดธ.ก.ส. ว่า รายละเอียดการทำงานหลังจากนี้ จะต้องสอบถามกฤษฎีกา ถึงการใช้มาตรา 28 ผ่านธ.ก.ส. และเรื่องการใช้วงเงินที่จะนำเข้ามาในการพิจารณาของบอร์ดธ.ก.ส. ตามกฎหมาย
แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ" ว่า หากกระทรวงการคลังส่งเรื่องให้กฤษฎีกาตีความโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับวงเงินที่จะให้ธ.ก.ส.นำไปแจกให้กับเกษตรกร สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะส่งเรื่องให้ คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 12 ที่มีนายพนัส สิมะเสถียร อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการ เป็นผู้ตีความข้อกฎหมาย เพราะเป็นคณะที่รับผิดชอบกฏหมายที่เกี่ยวกับการเงินการคลังโดยตรง
คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 12 มีทั้งสิ้น 10 คน แต่ละคนถือว่า เป็น “อรหันต์” ที่เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในทางนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์หรือการบริหารราชการแผ่นดิน มีความรู้ ประสบการณ์การทำงานในเรื่องที่เกี่ยวข้องมาอย่างยาวนาน ดังนี้
1. นายพนัส สิมะเสถียร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานกรรมการ
การศึกษา :
2. นายบดี จุณณานนท์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลของนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เป็นรองประธานกรรมการ
การศึกษา :
3. นายสมชัย ฤชุพันธุ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง อดีตอธิบดีกรมสรรพสามิต กรรมการ
การศึกษา:
4. นายปัญญา ถนอมรอด อดีตประธานศาลฎีกา อดีตประธานคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ กรรมการ
การศึกษา :
5. นายธานิศ เกศวพิทักษ์ อดีตรองประธานศาลฎีกา กรรมการ
การศึกษา :
6. นายเข็มชัย ชุติวงศ์ อดีตอัยการสูงสุด กรรมการ
การศึกษา :
7. นายนนทิกร กาญจนะจิตรา อดีตเลขาธิการ ก.พ. กรรมการ
การศึกษา :
8. นางสาวจารุวรรณ เฮงตระกูล อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กรรมการ
การศึกษา :
9. นายศักดา ธนิตกุล อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรรมการ
การศึกษา :
10. นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กรรมการ
การศึกษา :
หลังจากนี้ต้องติดตามผลการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาทที่ให้ธ.ก.ส.แจกให้กับเกษตรกรอย่างใกล้ชิดว่าผลจะออกมาอย่างไร