สภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ยังเติบโตได้ไม่ดีเท่าที่ควร โดยประมาณการเศรษฐกิจไทย ปี 2567 (ณ เมษายน 2567) กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง พบว่า เศรษฐกิจไทยปี 2567 จะขยายตัวที่ร้อยละ 2.4 ต่อปี ซึ่งเป็นการปรับลดประมาณการลงมาจากเดิมที่ 2.7
นอกจากนี้นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ได้เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า เศรษฐกิจไทยกำลังมีปัญหา เพราะนับจากช่วงต้มยำกุ้ง GDPไทยเติบโตลดลงมาตลอด จาก 5% เหลือเพียง 2% โดยทุก 5 ปี จีดีพีจะลดลง 1%
ฐานเศรษฐกิจ สัมภาษณ์พิเศษ รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ถึงความจำเป็นในการดำเนินโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เมื่อพิจารณาสภาวะเศรษบกิจในปัจจุบัน
ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า เครื่องยนต์เศรษฐกิจของประเทศไทยในขณะนี้ สะท้อนถึงความจำเป็นที่น้อยลงในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยโครงการดิจิทัลวอตเล็ต เพราะการท่องเที่ยวฟื้นตัวชัดเจน เม็ดเงินงบประมาณปี 2567 ก็เริ่มจะเข้าสู่ระบบ ในแง่ของการลงทุนการบริโภคภาคเอกชนก็กระเตื้องขึ้นบ้าง
แต่หากรัฐบาลคาดหวังการเติบโตที่สูงขึ้นก็สามารถใช้นโยบายนี้ได้แต่มีความจำเป็นน้อยลง ในความเห็นส่วนตัวคิดว่าควรช่วยเหลือที่กลุ่มซึ่งเดือดร้อนทางเศรษฐกิจมากกว่า ซึ่งการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทนี้ก็เปรียบเหมือนการโอนเงินให้ประชาชน ขึ้นอยู่กับประชาชนที่จะไปตัดสินเองว่าจะใช้จ่ายอะไรอย่างไร
แต่หากรัฐบาลจะเข้าไปบริหารจัดการในระดับหนึ่งเพื่อแปลงเงินที่แจกลงไปให้ใช้ในการลงทุนก็จะทำให้เกิดการลงทุนเล็กๆน้อยๆกระจายอยู่ทั่วประเทศ เช่นการรวมกลุ่มกันเพื่อใช้จ่ายในการประกอบอาชีพ ซื้ออุปกรณ์การเกษตร เปิดร้านค้าขายเล็กๆน้อยๆ เหล่านี้ก็จะจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากขึ้น
ซึ่งการใช้เงิน 5แสนล้านของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ยังมีทางเลือกด้านอื่นอีกซึ่งไม่ว่าทางใดล้วนมีต้นทุนค่าเสียโอกาสทั้งหมด ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะให้น้ำหนักไปที่ไหน แต่หากมองในมุมของความเป็นประชาธิปไตยนั้นพรรคการเมืองใดที่ถูกเลือกโดยประชาชน ก็เท่ากับว่าประชาชนยอมรับและต้องการนโยบายที่พรรคการเมืองเหล่านั้นใช้ในการหาเสียง
เพราะถึงที่สุดแล้วเงินงบประมาณที่นำมาใช้ในการดำเนินนโยบายใดๆก็คือเงินของประชาชน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการเรียงลำดับความสำคัญของนโยบายด้วย ว่าควรทำเรื่องใดก่อนหลัง และเรื่องใดมีความจำเป็นมากที่สุด
ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของพรรคการเมืองที่ต้องการคะแนนนิยม เรื่องใดที่สัญญากับประชาชนไว้ก็จะต้องดำเนินการให้ได้เพื่อรักษาคะแนนนิยมของพรรคตนเอง
ในขณะเดียวกันก็เป็นความชอบธรรม ที่นักวิชาการ หน่วยงานทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ จะแสดงความคิดเห็นทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ส่วนรัฐบาลก็มีหน้าที่ในการรับฟังและดำเนินการให้ถูกกฎหมาย แต่ความซับซ้อนยิ่งไปกว่านั้น คือโครงสร้างทางการเมืองระดับใหญ่ยังมีความขัดแย้งกันอยู่
ทั้งที่มาขององค์กรอิสระ ทำให้เกิดความเหลื่อมกันระหว่างมิติทางการเมือง มิติทางเศรษฐกิจ และมิติทางการบริหาร ซึ่งบางครั้งไม่เกิดความร่วมมือเนื่องจากไม่ชอบหน้ากันก็มี ซึ่งหากจะมุ่งแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนต้องแก้ไขสิ่งเหล่านี้
โดยหากจะเป็นผลดีกับประเทศและประชาชนสูงสุดควรเปลี่ยนจิตใจให้มีความรักกัน และทำงานร่วมกันให้ได้ ภายใต้ความเชื่อว่าทุกคนล้วนหวังดีกับบ้านเมืองทั้งสิ้น และต้องไม่เล่นเกมการเมืองกันมากเกินไป ไม่ว่ากับฝ่ายใดก็ตาม เมื่อยึดถือหลักการและประโยชน์ของประเทศประเทศเป็นสำคัญทุกปัญหาย่อมแก้ไขได้