รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 7 พฤษภาคม 2567 ได้มีมติรับทราบการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 และวันที่ 9 เมษายน 2567 เรื่อง ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณี โครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ตามที่คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เสนอ และแจ้งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ทราบต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง คณะกรรมการนโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาทฯ รายงานว่า ภายหลังจากที่ครม.มีมติ (20 กุมภาพันธ์ 2567) รับทราบข้อเสนอแนะฯ ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอ และมอบหมายให้คณะกรรมการนโยบายฯ รับข้อเสนอแนะฯ ไปพิจารณาดำเนินการ
ต่อมาคณะกรรมการนโยบายฯ ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี (23 เมษายน 2567) และคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (23 เมษายน 2567) รับทราบผลการรวบรวมข้อมูล ความเห็น ข้อเท็จจริง และข้อเสนอแนะของหน่วยงานต่าง ๆ และเห็นชอบในหลักการกรอบหลักการโครงการฯ
โดยในครั้งนี้คณะกรรมการนโยบายฯ ได้รายงานผลการพิจารณาตามข้อเสนอแนะฯ ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งมีความสอดคล้องกับกรอบหลักการโครงการฯ ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบไว้ด้วยแล้ว สรุปได้ 4 เรื่อง ดังนี้
1. การศึกษา วิเคราะห์ การดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท เพื่อไม่ให้ผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ เอื้อประโยชน์แก่บุคคลรายใดรายหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีศักยภาพมากกว่าผู้ประกอบการรายย่อย
คณะกรรมการนโยบายฯ ได้เห็นชอบประเภทร้านค้าที่สามารถรับการใช้จ่ายจากประชาชนต้องเป็นร้านค้าขนาดเล็กรวมถึงร้านค้าสะดวกซื้อขนาดเล็ก โดยไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่งขนาดใหญ่ระดับประเทศและระดับท้องถิ่นและมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ไปพิจารณากำหนดรายละเอียดของประเภทร้านค้าที่สามารถเข้าร่วมโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ได้ รวมทั้งกำหนดการใช้จ่ายในโครงการ
โดยรอบที่ 1 จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็กเท่านั้น เพื่อเพิ่มการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจโดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานรากซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก และตั้งแต่รอบที่ 2 ขึ้นไป เป็นการใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้า โดยไม่มีการกำหนดเงื่อนไขร้านค้า
2. ในการดำเนินโครงการฯ ควรพิจารณาประเด็นความเสี่ยงด้านกฎหมายอย่างรอบคอบ เช่น มาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (การตราเป็นพระราชกำหนด) มาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 (การกู้เงินนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ)
คณะกรรมการนโยบายฯ ได้เห็นชอบแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ประกอบด้วย
โดยไม่ได้ตรากฎหมายเพื่อกู้เงินมาใช้ในการดำเนินโครงการฯ ทั้งนี้ หากมีประเด็นข้อกฎหมายที่ยังไม่ชัดเจน จะดำเนินการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อนการดำเนินการ เพื่อให้เกิดความถูกต้อง รอบคอบ และชัดเจนต่อไป
3. การป้องกันการทุจริตในการดำเนินโครงการฯ
นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกรรมการนโยบายฯ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านการตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet
โดยมีรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่ได้รับมอบหมายเป็นประธานอนุกรรมการ และมีผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือผู้แทน ผู้บัญชาการสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจหรือผู้แทน และมีผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางหรือผู้แทน เป็นอนุกรรมการและเลขานุการร่วม ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจที่สำคัญ เช่น
4. หากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องการช่วยเหลือประชาชน รัฐบาลควรช่วยเหลือกลุ่มประชาชนที่มีฐานะยากจน เปราะบาง หรือช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เท่านั้น
คณะกรรมการนโยบายฯ ได้เห็นชอบกลุ่มเป้าหมายประชาชนที่จะเข้าร่วมโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่สำคัญของโครงการฯ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่และช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ
โดยเป็นกลุ่มประชากรที่มีที่อยู่ในทะเบียนบ้าน สัญชาติไทย ณ เดือนที่ลงทะเบียนมีอายุเกิน 16 ปี ไม่เป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี และเป็นผู้มีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท
อย่างไรก็ตาม โดยที่ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในหลายประเด็นมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณากำหนดรายละเอียดโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท เช่น การประเมินความเสี่ยงแนวทางหรือมาตรการในการบริหารความเสี่ยง และการป้องกันการทุจริตในการดำเนินโครงการฯ การพิจารณาความจำเป็นและความเหมาะสม ตลอดจนระยะเวลาและงบประมาณที่ต้องใช้ในการพัฒนาระบบ รวมถึงการนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้กับโครงการ
โดยคณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการฯ จะมีการประชุมเพื่อพิจารณากำหนดรายละเอียดโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้ชัดเจนและครบถ้วน โดยจะนำความเห็นของหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่เสนอมาประกอบการพิจารณาด้วยเพื่อให้การดำเนินโครงการ มีความโปร่งใส คุ้มค่า เกิดประสิทธิภาพต่อไป