มาตรการยืนยันตัวตนของผู้ใช้ซิมการ์ดให้เป็นชื่อเดียวกันกับโมบายแบงก์กิ้ง ในขณะนี้ยังไม่มีการระงับโมบายแบงก์กิ้งของใช้บริการ เนื่องจากยังเป็นช่วงของการตรวจสอบข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่ขั้นตอนต่อไป
พล.ต.อ.ณัฐธร เพราะสุนทร กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้ให้สัมภาษณ์กับฐานเศรษฐกิจ ผ่านรายการ "เข้าเรื่อง" ว่าหลังจากวันที่ 27 พ.ค. 2567 ไปอีก 120 วัน ธนาคารพาณิชย์จะต้องส่งข้อมูลชื่อเจ้าของบัญชี และหมายเลขโทรศัพท์ที่ผูกกับโมบายแบงก์กิ้งมาให้กับ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.)
ก่อนที่จะประสานต่อมายัง กสทช. โดยการเปิดช่องทางสื่อสารข้อมูลให้ กสทช. แยกเครือข่ายผู้ให้บริการ และแจ้งให้ผู้ประกอบการให้บริการเครือข่ายดำเนินการตรวจสอบต่อไป ทั้งหมายเลขโทรศัพท์ที่ใช้ผูกกับโมบายแบงก์กิ้งเป็นของผู้ใด และชื่อตรงกับเจ้าของบัญชีโมบายแบงก์กิ้งหรือไม่
สำหรับขั้นตอนการแจ้งไปยังเจ้าของบัญชีเพื่อให้มายืนยันตัวตนต่อไปนั้น หรือบัญชีใดบ้างต้องถูกระงับการทำธุรกรรมจะเป็นขั้นตอนของ ปปง. และธนาคารพาณิชย์ จุดประสงค์ของมาตรการนี้ก็เพื่อขจัดซิมม้าให้ออกจากระบบไป เนื่องจากวิธีการของมิจฉาชีพจะมีการเปิดบัญชีม้าเพื่อรองรับการโอนเงิน แต่ไปผูกซิมผี
เมื่อถูกจับกุมได้ก็จะอ้างว่าไม่รู้ไม่เห็น กลายเป็นช่องทางในการปฏิเสธข้อกล่าวหา ดังนั้นการดำเนินมาตรการดังกล่าวจะเป็นการปิดช่องทางในการปฏิเสธของมิจฉาชีพได้
สำหรับบัญชีม้าถูกแบ่งออกเป็นม้ารู้ กับม้าใส โดยม้ารู้ก็คือผู้ที่เปิดบัญชีขึ้นเพื่อรองรับการโอนเงินที่ได้มาโดยผิดกฎหมาย ส่วนม้าใสคือผู้ที่ถูกหลอกให้เปิดบัญชีโดยไม่รู้ว่านำมาใช้รับเงินจากการกระทำที่ผิดกฎหมาย ไม่ว่าผู้นั้นจะได้รับเงินค่าจ้างหรือไม่ก็ตาม ซึ่งบัญชีเหล่านี้จะหลุดออกจากตัวเจ้าของบัญชี ดังนั้นจึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเบอร์ได้ ส่งผลให้บัญชีม้าก็จะลดน้อยลงไป
ซึ่งมาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการต่อยอดมาจากมาตรการยืนยันตัวตนของผู้ถือครองซิมการ์ดจำนวนมากกว่า 5 หมายเลข ซึ่งเป็นมาตรการเพื่อมุ่งเน้นกำจัดซิมผี เพราะหมายเลขของมิจฉาชีพที่ถูกร้องเรียนหากรอกระบวนการของพนักงานสอบสวนเพื่อระงับอาจต้องใช้เวลานาน ในการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย
ดังนั้น กสทช.จึงใช้อำนาจที่มีออกมาตรการให้ผู้ถือครองหมายเลขเป็นจำนวนมากมายืนยันตัวตน โดยผู้ถือครองซิมการ์ดตั้งแต่ 101 หมายเลขขึ้นไปต่อค่าย ต้องทำการยืนยันตัวตนกับผู้ให้บริการภายในวันที่ 14 ก.พ. 2567 จากมาตรการดังกล่าวได้มีการระงับซิมการ์ดที่ไม่มายืนยันตัวตนทั้งสิ้น 2,137,465 หมายเลข (ข้อมูล ณ 18 พ.ค. 67) ซึ่งเข้าใจได้ว่าหมายเลขเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในการถือครองของมิจฉาชีพ อีกส่วนหนึ่งอยู่ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์(IT) และ อุปกรณ์ไอโอที (IoT device) เช่น เครื่องรูดบัตร ,อุปกรณ์ GPS tracking ใช้เพื่อการระบุตำแหน่ง รวมถึงกล้องวงจรปิด เหล่านี้เป็นต้น
ส่วนผู้ถือครองซิมการ์ดตั้งแต่ 6-100 หมายเลขขึ้นไปต่อค่าย ทำการยืนยันตัวตนกับผู้ให้บริการภายใน 180 วัน ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 13 ก.ค. 2567
นอกจากนี้ กสทช. ได้มีการดำเนินการมาตรการป้องกันเชิงระบบตั้งแต่เครือข่ายสัญญาณที่ตั้งตามแนวชายแดน แล้วใช้สัญญาณโครงข่ายโทรศัพท์ และอินเทอร์เน็ตของไทย ซึ่งกระจายข้ามพรมแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งหากมีการใช้ซิมการ์ดของประเทศไทยด้วยก็จะทำให้เหยื่อไม่สามารถทราบได้เลยว่าเป็นเบอร์ของคนร้าย
นี่จึงเป็นปัญหาที่ทางกสทช. เร่งเข้าไปดูแลเรื่องเสาสัญญาณเถื่อนตามแนวชายแดน รวมถึงสายนำสัญญาณ Fiber Optic ที่ลากข้ามพรมแดนไป ตลอดจนเสาสัญญาณที่ได้รับอนุญาตจาก กสทช.แต่ทำผิดเงื่อนไข เช่น การตั้งชิดแนวชายแดนแล้วส่งสัญญาณแรง ข้ามลึกเข้าไปในเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ กสทช.ดำเนินการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง