"ขึ้นค่าแรง 400 บาท" ไม่กระทบจ้างงาน แนะผลิตสินค้าทักษะสูง เทคโนโลยีเข้มข้น

09 ก.ย. 2567 | 08:49 น.
อัพเดตล่าสุด :09 ก.ย. 2567 | 08:49 น.

"ขึ้นค่าแรง 400 บาท" ไม่กระทบจ้างงาน แนะผลิตสินค้าทักษะสูง เทคโนโลยีเข้มข้น อนุสรณ์ชี้การปรับจะลดการใช้แรงงานมนุษย์ ทำให้ผลิตภาพระยะยาวเพิ่มขึ้นสอดรับกับสถานการณ์แรงงานขาดแคลนจากสังคมสูงวัยในอนาคต

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า การปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ไม่กระทบจ้างงาน ไม่เกิดแรงกดดันเงินเฟ้อมากนัก เงินเฟ้อจะเกิดจากการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารจากผลกระทบของอุทกภัยมากกว่า 

การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำยังช่วยเพิ่มแรงกดดันให้ผู้ประกอบการปรับตัวใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ลดการใช้แรงงานมนุษย์ ทำให้ผลิตภาพระยะยาวเพิ่มขึ้นสอดรับกับสถานการณ์แรงงานขาดแคลนจากสังคมสูงวัยในอนาคต การขยับขึ้นค่าแรงทำให้เกิดการปรับโครงสร้างภาคการผลิต อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นจะย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศต้นทุนแรงงานต่ำมากขึ้น 

ขณะที่ไทยต้องขยับผลิตสินค้าที่ใช้ทักษะสูง ใช้ทุนและเทคโนโลยีเข้มข้นมากขึ้น เศรษฐกิจขยายดีขึ้น การปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาษีโดยให้มีระบบ Negative Income Tax ของรัฐบาลใหม่ เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยไม่ถึงขั้นต่ำได้รับเงินโอนสวัสดิการช่วยเหลือ จะเป็นการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและเป็นการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางได้ตรงเป้าหมายมากขึ้นและยังช่วยสร้างฐานข้อมูลรายได้และภาษีเพื่อใช้ประโยชน์ในการดำเนินนโยบายสาธารณะอื่นๆได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
 

ทั้งนี้ เศรษฐกิจแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์นั้นถูกขับเคลื่อนและดำเนินไปโดยแรงงานที่ไม่ได้รับค่าจ้างในส่วนสำคัญของกิจการ ผู้คนเป็นพันล้านคนใช้เวลามากมายในแต่ละวันเพื่อสร้างเนื้อหาให้เฟซบุ๊กฟรีๆ ยูทูป หรือ ไลน์ โดยรายงานเหตุการณ์ต่างๆ แสดงความคิดเห็น นำเสนอเรื่องราวต่างๆพร้อมโพสต์รูปภาพต่างๆ โพสต์วิดิโอต่างๆ 

สิ่งที่อาจจะพิจารณาว่าเป็นค่าจ้างได้ ก็คือ การสื่อสารถึงกลุ่มคนต่างๆและความสัมพันธ์ใหม่ หากโพสต์มีคนเข้าชมหรือมีส่วนร่วมมากพอก็อาจได้รับส่วนแบ่งจากโฆษณาเพียงเล็กน้อย ด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมและได้รับประโยชน์ที่เหมาะสมในเงื่อนไขที่เหมาะสม ในอนาคตการแบ่งปันข้อมูลอาจจะขยายยังข้อมูลการเงินส่วนบุคคล ปัญหาสุขภาพ หรือชีวิตส่วนตัว มากขึ้น

อย่างไรก็ดี การที่รัฐบาลใหม่มีนโยบายพัฒนาต่อยอดเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นเรื่องที่ดี และนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล ควรมีเป้าหมายในระดับประเทศที่ชัดเจน ได้แก่ การเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี (GDP) ซึ่ง GDP ที่จะเพิ่มได้นั้น ไม่ได้เกิดจากที่รัฐเป็นผู้ให้บริการ แต่รัฐต้องเป็นผู้กำหนดนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้เอกชนเป็นผู้สร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าและบริการ (Product and Service) ที่อยู่บนระบบเศรษฐกิจดิจิทัลดังกล่าว 

นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) จึงมีความจำเป็นและมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดที่จะต้องคิดและเขียนออกมาให้ได้ตรงตามเป้าหมายดังกล่าว ได้แก่ การเพิ่ม GDP ให้กับประเทศไทย และการทำให้เกิดความยั่งยืน (Sustainability) ในระยะยาว นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ที่ทำให้อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ดั้งเดิมสามารถล่มสลายได้ในพริบตานั้นเกิดขึ้นบ่อยครั้ง

หากนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลและนโยบายส่งเสริมนวัตกรรมเทคโนโลยีดังกล่าวถูกพัฒนาขึ้นมาโดยมีเป้าหมายต้องการให้เศรษฐกิจก้าวหน้าและเติบโต ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนและถูกพัฒนาขึ้นมาอย่างมียุทธศาสตร์ จะได้เห็นการเติบโตอันแข็งแกร่งของภาคเอกชนมากขึ้น ยกตัวอย่าง ความสำเร็จของประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งมีบริษัทซัมซุงและบริษัทแอลจีเป็นตัวอย่างที่รัฐสนับสนุนส่งเสริมเอกชน ทำให้เศรษฐกิจเกาหลีใต้ในหลายปีที่ผ่านมาเติบโตอย่างต่อเนื่อง และประชาชนเกาหลีใต้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการได้รับค่าตอบแทนในการทำงานที่เพิ่มขึ้น 

จากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจเกาหลีใต้ในหลายปีที่ผ่านมา ทิศทางในการดำเนินการควรให้เอกชนเป็นผู้นำการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยมีรัฐเป็นผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) และส่งเสริมสนับสนุน (Promoter) โดยการสร้างแรงจูงใจอย่างเป็นระบบ และปรับปรุงประสิทธิภาพ กระบวนการทำงานของภาครัฐด้วยดิจิทัล ให้โปร่งใส รวดเร็ว

และลดคอร์รัปชันได้ มาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมไอซีทีนั้นมีความสำคัญ อุตสาหกรรมไอซีทีที่ขับเคลื่อนด้วยภาคเอกชนในทุกประเทศทั่วโลก เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของเติบโตทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมไอซีทีจะมีส่วนร่วมผลักดันแนวนโยบาย Digital Economy ให้เป็นจริงได้โดยอาศัยความร่วมมือและความเข้าใจจากภาคเอกชนและรัฐต้องมีการสนับสนุนอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง และสร้างระบบแรงจูงใจให้กับภาคเอกชนที่มีศักยภาพในการพัฒนาให้แข่งขันได้ในอนาคต