นักวิชาการชำแหละนโยบาย "รัฐบาลใหม่" ทำให้สัมฤทธิ์ผลไม่ใช่เรื่องง่าย

09 ก.ย. 2567 | 08:14 น.
อัพเดตล่าสุด :09 ก.ย. 2567 | 08:14 น.

นักวิชาการชำแหละนโยบาย "รัฐบาลใหม่" ทำให้สัมฤทธิ์ผลไม่ใช่เรื่องง่าย ชี้ต้องอาศัยความมุ่งมั่นในการปฏิรูปและเจตจำนงร่วมทางการเมืองที่แน่วแน่ของพรรคร่วมรัฐบาล แนะแก้ปัญหาโดยคิดนอกกรอบ

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัลฯ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ประเมินนโยบายรัฐบาลใหม่ที่จะแถลงต่อรัฐสภาหากทำได้จะมีส่วนช่วยยกระดับประเทศไทยสู่ประเทศพัฒนาแล้วในระยะยาว แต่จะประสบความสำเร็จตามนโยบายไม่ง่ายต้องอาศัยความมุ่งมั่นในการปฏิรูปและเจตจำนงร่วมทางการเมืองอันแน่วแน่ของพรรคร่วมรัฐบาล 

นอกจากนี้ การบรรลุเป้าหมายตามนโยบายระยะกลางและระยะยาวยังขึ้นอยู่กับพลวัตของเศรษฐกิจ การเมืองทั้งภายในประเทศและต่างประเทศในอนาคต ความท้าทายต่างๆที่ประเทศเผชิญต้องอาศัยความมีเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตย ความคงเส้นคงวาของนโยบาย ไม่เปลี่ยนแปลงกลับไปกลับมาหรือต้องพิจารณาให้รอบคอบรัดกุมก่อนนำเสนอ ความต่อเนื่องในการบริหารประเทศเป็นอีกปัจจัยสำคัญในรับมือความท้าทายต่างๆ

ต้องแก้ปัญหาโดยคิดนอกกรอบและทบทวนกระบวนทัศน์แบบเดิมๆ ปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความถดถอยของความสามารถในการแข่งขัน ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี 
 

ปัญหาการขาดแคลนแรงงานและวิกฤติการคลังอันเกี่ยวเนื่องกับสังคมสูงวัยขั้นสุดยอดใน 10 ปีข้างหน้า ปัญหาหนี้สาธารณะและหนี้ครัวเรือน ความอ่อนแอของทุนมนุษย์และสถาบันครอบครัว เป็นต้น ปัญหาเหล่านี้ต้องอาศัยวิธีการใหม่ๆ กรอบคิดใหม่ๆในการแก้ไข

ทั้งนี้ ต้องยกเลิกความคิดรวมศูนย์ทุกอย่างไว้ที่ส่วนกลาง ต้องดำเนินการกระจายอำนาจในทุกมิติอย่างแท้จริง อำนาจต้องอยู่ที่ประชาชนเจ้าของประเทศ ไม่ใช่ รัฐบาลหรือระบบราชการ การแสวงหาความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเป็นหลักประกันเบื้องต้นในการปฏิรูปและปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ที่จะมีแรงต่อต้านและแรงเสียดทานสูง

แต่รัฐบาลต้องเดินหน้าผลักดันอย่างมียุทธศาสตร์ การสร้างโอกาสต่อยอดจากอุตสาหกรรมเดิมและส่งเสริมโอกาสในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ต้องดำเนินการแบบผ่าตัดปฏิรูปใหญ่ ไม่ใช่วิธีดำเนินการค่อยๆทำทีละส่วนแบบปะผุ เพราะจะไม่ทันกับพลวัตการเปลี่ยนแปลงของตลาดโลก อุตสาหกรรมโลกและพลวัตเทคโนโลยี การสร้างรายได้จาก Soft Power 
 

ขอให้พิจารณาบทเรียนทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวของประเทศต่างๆ ไม่ว่า จะเป็น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เกาหลีใต้ จีน หรือ ญี่ปุ่น เป็นต้น ขณะเดียวกัน การปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี ก่อนที่ปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองจากรัฐธรรมนูญรุมเร้า และอาจจะสั่นคลอนต่อเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตยได้

ส่วนนโยบายทางด้านทุนมนุษย์ผ่านการพัฒนาคนไทยทุกช่วงวัย ทั้งมิติการศึกษาและสาธารณสุขนั้น เป็นสิ่งที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชน สังคม เศรษฐกิจ และ การเมือง ดีขึ้นในระยะยาว แต่เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาผลสัมฤทธิ์จึงจะปรากฏ ยกเว้น การต่อยอด 30 บาทรักษาทุกโรค ที่สามารถรักษาได้ทุกที่น่าจะมีความคืบหน้าอย่างชัดเจนตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว 

ด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ไล่เรียงไปตั้งแต่ การบริหารจัดการน้ำ จนถึง ระบบขนส่งคมนาคม ต้องเป็นไปตามหลักวิชาการ และ โปร่งใสตรวจสอบได้ รวมทั้งต้องแสวงหาวิธีสนับสนุนโครงการลงทุนที่ไม่ก่อให้เกิดภาระทางการคลังมากเกินไป และนำไปสู่วิกฤติฐานะการคลังในอนาคตได้ การสร้างรายได้ใหม่ของรัฐจากการจัดระเบียบเศรษฐกิจใต้ดินหรือเศรษฐกิจนอกระบบเป็นเรื่องที่ดี 

แต่ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบโดยศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน ส่วนนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมให้เป็นศูนย์กลางทางด้านต่างๆต่อเนื่องจากนโยบาย IGNITE Thailand ของรัฐบาลเศรษฐานั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปได้แต่อาจต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปีสำหรับบางอุตสาหกรรม แต่บางอุตสาหกรรมไทยมีความพร้อมมาก 

บางอุตสาหกรรมต้องมีการลงทุนในทักษะแรงงานอย่างจริงจัง ยกเครื่องระบบการศึกษา มีการลงทุนทางด้านการวิจัยแปรรูปสร้างมูลค่า ลงทุนและพัฒนานวัตกรรมอย่างเป็นระบบ ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานตามเป้าหมาย ลำดับความสำคัญในการลงทุนตามความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบและความสามารถในการแข่งขัน พร้อมมีแผนดำเนินการอย่างชัดเจน ความต่อเนื่องของการดำเนินนโยบายจากเสถียรภาพทางการเมืองเป็นปัจจัยชี้ขาดความสำเร็จ 

อย่างไรก็ตาม นโยบายการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย (Target Industries) เพื่อพัฒนาไม่ใช่เรื่องใหม่และเป็นโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้ว ใน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน จีนและสิงคโปร์ คำถามสำคัญ คือ ทำไมประเทศเหล่านี้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจและธุรกิจอุตสาหกรรมได้อย่างไร และ ทำไมประเทศเหล่านี้สามารถทำให้เกิดขึ้นได้จริงมากกว่าไทย และไม่เป็นเพียงนโยบายสวยหรู เป็นเรื่องที่ รัฐบาล เอกชน ภาคการศึกษา สถาบันวิจัย ต้องไปแสวงหาคำตอบและแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประเทศแถวหน้าของภูมิภาคเอเชีย