ADB แนะไทยปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสีเขียว ทางรอดสู่ Green Economy

26 ก.ย. 2567 | 07:30 น.
อัพเดตล่าสุด :27 ก.ย. 2567 | 05:29 น.

"อานุช เมธา" ผู้อำนวยการ ADB แนะไทยต้องเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมเปิดเผยตัวเลข 59.5 ล้านล้านบาท ที่เอเชียแปซิฟิกต้องใช้ลงทุนมหาศาล เพื่อก้าวสู่เศรษฐกิจสีเขียว

วันที่ 26 ก.ย. 67 นายอานุช เมธา ผู้อำนวยการสำนักงานผู้แทนธนาคารพัฒนาเอเชียประจำประเทศไทย (Asian Development Bank หรือ ADB) ประจำประเทศไทย ได้กล่าวในงานสัมมนา "Road to Net Zero 2024 The Extraordinary Green" จัดโดย ฐานเศรษฐกิจ ว่าด้วย "การเงินสีเขียว" โดยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยเพื่อให้รองรับกับความเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ และการสร้างระบบการเงินที่สนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียว 

ปัจจุบันปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องที่ไม่สามารถมองข้ามได้ ประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเผชิญกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ไม่แน่นอน ส่งผลให้เกิดอุทกภัย และภัยธรรมชาติอื่นๆ ที่สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและระบบเศรษฐกิจโดยรวม

"ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้สอดคล้องกับความเป็นจริงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หากต้องการความอยู่รอดในระยะยาว" นายอานุชกล่าว พร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญของ "การเงินสีเขียว" (Green Finance) และการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในเชิงลึก

ADB แนะไทยปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสีเขียว ทางรอดสู่ Green Economy

นายอานุชยังกล่าวถึงความจำเป็นในการระดมทุนเพื่อสนับสนุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน ซึ่งในรายงานของ ADB ระบุว่าประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกต้องการเงินลงทุนประมาณ 1.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี (ราว  59.5 ล้านล้านบาท) ไปจนถึงปี 2030 เพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรกับสภาพภูมิอากาศ

เมื่อรวมกับความต้องการในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพแล้ว จะต้องใช้เงินอีกประมาณ 700 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงช่องว่างทางการเงินที่กว้างขวางและความท้าทายที่ประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคนี้กำลังเผชิญ

ธนาคารพัฒนาเอเชียได้ดำเนินงานร่วมกับหลายหน่วยงานในประเทศไทย ทั้งกระทรวงการคลังและภาคเอกชน โดยในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาได้มีการออก พันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bonds) และ ตราสารหนี้สีฟ้า (Blue Bonds) โดยมีการระดมทุนเกือบหนึ่งพันล้านดอลลาร์ในการออกพันธบัตร และต่อมานำไปสู่การระดมเงินอีก 10,000 ล้านดอลลาร์จากตลาด เงินทุนสีเขียวมูลค่ากว่า 12,000 ล้านดอลลาร์ได้ไหลผ่านโครงการสีเขียวในประเทศไทย โดยพันธบัตรเหล่านี้เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการดึงดูดเงินทุนจากตลาดการเงินและภาคเอกชน

การเงินเชิงนวัตกรรมเพื่อลดความเสี่ยง

นายอานุชเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการสร้างนวัตกรรมทางการเงินเพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนในโครงการสีเขียว ซึ่งอาจต้องพิจารณาการใช้พันธบัตร ตลาดทุน การประกันภัย และกองทุนลดความเสี่ยง (De-Risking Funds) เพื่อให้ภาคเอกชนและอุตสาหกรรมสามารถลงทุนได้อย่างมั่นใจมากขึ้น

 

"เราจำเป็นต้องกระตุ้นให้เงินทุนจากแหล่งต่างๆ ไหลเข้าสู่โครงการสีเขียวให้เร็วที่สุด" นายอานุชกล่าว พร้อมชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของนโยบายภาครัฐและความยืดหยุ่นของภาคเอกชนในการร่วมกันสร้างการเงินสีเขียว

อีกหนึ่งแนวทางที่สำคัญคือ การเชื่อมโยงการให้สิทธิประโยชน์กับการลดมลพิษ เช่น แนวคิดเรื่องภาษีคาร์บอน ที่หากผู้ประกอบการสามารถลดการปล่อยมลพิษได้ ก็จะได้รับสิ่งจูงใจทางภาษี เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ภาคเอกชนมีบทบาทในการลดมลภาวะและส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

ADB แนะไทยปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสีเขียว ทางรอดสู่ Green Economy

บทเรียนจากตัวอย่างระดับภูมิภาค

ตัวอย่างโครงการในภูมิภาค เช่น โครงการโซลาร์พาร์คขนาด 100 เมกะวัตต์ในกัมพูชา และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวในประเทศไทย เช่น การสนับสนุนรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า (e-tuk tuk) รถบัสไฟฟ้า (e-buses) และรถบรรทุกไฟฟ้า (e-trucks) โครงการเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว

นอกจากนี้ นายอานุชยังได้กล่าวถึงประเด็นสำคัญเกี่ยวกับปัญหา "Greenwashing" หรือ "การฟอกเขียว" ซึ่งเป็นการที่องค์กรหรือโครงการอ้างว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ไม่ได้ส่งผลลัพธ์ที่แท้จริงในการลดมลพิษหรือฟื้นฟูธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ "เราต้องหลีกเลี่ยงการให้เงินสนับสนุนแก่โครงการที่ไม่สามารถวัดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมได้ชัดเจน" นายอานุชกล่าว การลงทุนในโครงการสีเขียวควรมีกรอบการวัดผลที่ชัดเจน เช่น ตัวชี้วัดในการลดคาร์บอนหรือการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อลดความเสี่ยงของการฟอกเขียวที่อาจเกิดขึ้น

การใช้มาตรฐานที่เข้มงวดและโปร่งใสในการประเมินผลลัพธ์ของโครงการด้านสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญ การออกพันธบัตรสีเขียวควรมีการตรวจสอบและรายงานผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่าโครงการเหล่านั้นเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ และสร้างผลกระทบที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริงต่อสิ่งแวดล้อม ไม่เพียงแต่ในทางการเงิน

ADB แนะไทยปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสีเขียว ทางรอดสู่ Green Economy

สุดท้ายนี้ นายอานุชได้กล่าวถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและความเชื่อมโยงระหว่างธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยธนาคารพัฒนาเอเชียได้ก่อตั้งศูนย์การเงินเพื่อแก้ปัญหาทางธรรมชาติในกรุงเทพฯ เพื่อสนับสนุนโครงการด้านความหลากหลายทางชีวภาพและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

ธนาคารพัฒนาเอเชียเป็นพันธมิตรสำคัญของประเทศไทยในการสนับสนุนแนวทางการเงินสีเขียวและการพัฒนาที่ยั่งยืน การร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเป็นกุญแจสำคัญในการระดมทุนเพื่อตอบสนองต่อความท้าทายทางสิ่งแวดล้อมที่ประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกำลังเผชิญ

 

นายอานุชกล่าวปิดท้ายว่า "ความต้องการในการเงินสีเขียวมีขนาดใหญ่มาก เราต้องใช้ทรัพยากรจากทุกภาคส่วนเพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ยั่งยืน และนั่นคือบทบาทของเราในการเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาที่จะช่วยให้ประเทศไทยและภูมิภาคบรรลุเป้าหมายการเงินสีเขียว"