thansettakij
“แผ่นดินไหว” ฉุดศก.สูญ 3 หมื่นล้าน ชง ESG และ Risk Awareness เป็นวาระแห่งชาติ

“แผ่นดินไหว” ฉุดศก.สูญ 3 หมื่นล้าน ชง ESG และ Risk Awareness เป็นวาระแห่งชาติ

04 เม.ย. 2568 | 17:21 น.

อาฟเตอร์ช็อก “แผ่นดินไหว” ส่งผลกระทบเศรษฐกิจไทยสูญ 3 หมื่นล้าน จับตาภาคท่องเที่ยว อสังหาฯ กำลังซื้อผู้บริโภคในประเทศ แนะพลิกวิกฤตเป็นโอกาสพร้อมกำหนดESG และ Risk Awareness เป็นวาระแห่งชาติ รับมือภัยพิบัติอย่างยั่งยืน

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) ได้ประเมินผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ณ ประเทศเมียนมา ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมาว่า มีผลกระทบเบื้องต้นต่อเศรษฐกิจไทยจำกัดประมาณ 3 หมื่นล้านบาท โดยผลกระทบจะกระจุกตัวอยู่ในภาคการท่องเที่ยว ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจก่อสร้าง

โดยภาคการท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบในระยะสั้น ทำให้เดือนเมษายนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงราว -12%MOM และจะใช้เวลาฟื้นตัวให้กลับมาเติบโตได้ตามปกติราว 3 เดือน ทำให้ทั้งปีโอกาสที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะลดลงราว 4 แสนคน ทำให้สูญเสียรายได้จากค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 2.1 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ภาคอสังหาฯ พบว่า การโอนกรรมสิทธิ์ในกรุงเทพฯและปริมณฑลในปีนี้ ซึ่งมีแนวโน้มอยู่ที่ 8.5 หมื่นหน่วย หดตัว -0.8%YOY สาเหตุจาก การโอนกรรมสิทธิ์/ซื้อคอนโดมีแนวโน้มชะลอตัว รวมไปถึงกลุ่มนักลงทุนในคอนโด ก็มีแนวโน้มชะลอตัวไปด้วย รวมไปถึงตลาดรับเหมาก่อสร้าง

“แผ่นดินไหว” ฉุดศก.สูญ 3 หมื่นล้าน ชง ESG และ Risk Awareness เป็นวาระแห่งชาติ

ที่การก่อสร้างจะไม่หยุดชะงัก และผู้รับเหมาก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง จะได้อานิสงส์จากความต้องการซ่อมแซม แต่ผู้ว่าจ้าสงจะคำนึงถึงความสามารถในการรองรับภัยพิบัติและเข้มงวดมากขึ้น แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบยังต้องปรับตัวและเตรียมความพร้อมในการรองรับกับผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อความเชื่อมั่นทั้งในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติและผู้บริโภคชาวไทยอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งไม่ได้กระทบแค่ในพื้นที่เดียว แต่ครอบคลุมไปทั่วหลายจังหวัด โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ ที่มีตึกสูงและคอนโดอยู่เป็นจำนวนมาก ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของผู้คน

รวมถึงผู้ประกอบการอื่นๆ เช่น ร้านอาหาร ทั้งร้านทั่วไป รวมถึงร้านที่ตั้งอยู่ในฟู้ดคอร์ท ห้างสรรพสินค้า หรืออาคารสำนักงาน ขณะเดียวกันยังส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่พบว่าหลายสายการบิน มีการยกเลิกตั๋วหรือเลื่อนเที่ยวบินเพิ่มขึ้น จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ชะลอการเดินทางมา จึงส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม

ฐนิวรรณ กุลมงคล ฐนิวรรณ กุลมงคล

“สิ่งที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้ คือ ความไม่มั่นใจของผู้บริโภคต่อความปลอดภัยของสถานที่ และความเสี่ยงจาก Aftershock ที่อาจเกิดขึ้นอีก โดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียมและทำงานในอาคารสูง ต่างเริ่มรู้สึกไม่ปลอดภัย หลายแห่งไม่สามารถกลับเข้าไปอยู่ได้ ต้องรอการตรวจสอบและซ่อมแซมก่อน ส่งผลให้การทำงานหยุดชะงัก ร้านอาหารที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เหล่านี้ได้รับผลกระทบในทันที”

อย่างไรก็ดีในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ ในช่วงนี้ปกติแล้วเป็นฤดูกาลที่ผู้บริโภคจะใช้จ่ายเงินหลังการท่องเที่ยว แต่ปีนี้กลับไม่เป็นเช่นนั้น หลายร้านค้าเริ่มสังเกตว่ายอดขายตกลงอย่างชัดเจนตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน และเมื่อเกิดแผ่นดินไหวขึ้นมา ยิ่งซ้ำเติมความไม่มั่นใจในสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ และส่งผลให้การใช้จ่ายชะลอตัวลงอีก

เหตุการณ์ครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของธุรกิจร้านอาหารไทย ที่ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกอย่างรุนแรง โดยเฉพาะเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น ภัยพิบัติธรรมชาติ การระบาดของโรค หรือปัญหาเศรษฐกิจ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผู้ประกอบการในยุคนี้ คือ การเตรียมพร้อมรับมือ และหาทางปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ เพราะแม้แผ่นดินจะสั่นคลอน แต่ธุรกิจจะต้องยืนหยัดต่อไปให้ได้

ด้านนายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานยุทธศาสตร์ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า ผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศเพื่อนบ้าน ที่ส่งแรงสั่นสะเทือนมาถึงประเทศไทย สร้างความเสียหายและความตื่นตระหนกในวงกว้าง แต่หลังเหตุการณ์นี้อยากให้ไทยมองวิกฤตครั้งนี้คือโอกาสสำคัญในการ “พลิกวิกฤตเป็นโอกาส” ให้เศรษฐกิจไทยใน 6 ภาคส่วนหลัก ดังนี้

1. ภาคอสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภค : ภาคอสังหาริมทรัพย์และการลงทุนในสาธารณูปโภค ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานประเทศไทยที่ต้องมุ่งเน้นการใช้สินค้า บริการผู้รับเหมาที่เป็นผู้ประกอบการไทย คำนึงถึงมาตรฐานวัสดุอุปกรณ์ การใช้เทคโนโลยีที่เหมะสม และนวัตกรรมช่วยในการบริหารจัดการภัยพิบัติ ซึ่งอาจส่งผลต่อต้นทุนการก่อสร้างแต่ส่งผลประโยชน์ในการสร้างความยั่งยืนระยะยาว

โดยจะเป็นการช่วยเร่งความตระหนักถึงการใช้ผลิตภัณฑ์บริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน และส่งเสริมให้เศรษฐกิจหมุนเวียนภายในประเทศ รวมทั้งการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่ต้องมีการทบทวนช่องว่างการกำหนดรายละเอียดใน TOR การรับช่วงเหมาช่วงหลายทอด กระบวนการเสนอราคา วิธีการจัดซื้อจัดจ้าง การตรวจติดตามประเมิน ตรวจรับและทดสอบที่โปร่งใสมีประสิทธิภาพ

แสงชัย ธีรกุลวาณิช แสงชัย ธีรกุลวาณิช

2. ภาคการท่องเที่ยว : วิกฤตนี้จะเป็นมาตรการสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเป็นสิ่งสำคัญที่สุด โดยเฉพาะในส่วนของที่พัก โรงแรม และรีสอร์ท ควรมีการนำดิจิทัลเทคโนโลยีและ AI มาประยุกต์ใช้ในการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยและสร้างประสบการณ์ที่ดี นอกจากนี้ การส่งเสริมการท่องเที่ยวในระดับท้องถิ่น การจัดงาน MICE และ Festival ที่ชูอัตลักษณ์ไทย ควบคู่ไปกับการใช้แพลตฟอร์มไทยในการจองและซื้อสินค้า จะช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างแท้จริง

3. ภาคการผลิตและการลงทุน : การสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ (FDI & TDI) ในเรื่องความปลอดภัยและคุณภาพของการลงทุนในประเทศไทยเป็นสิ่งจำเป็น การสร้างแบรนด์ประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับในฐานะ “ฐานการผลิตสินค้าคุณภาพและความปลอดภัย” จะช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนได้อย่างต่อเนื่อง

4. ภาคการค้าและการบริการ : ไทยมีภาพลักษณ์ที่ดีและไทยมีความพร้อมในการเคลื่อนย้ายแรงงานจากประชากรเมียนมา เข้าในไทย ขณะเดียวกันก็มีความพร้อมด้านบริการสาธารณสุข สินค้าอุปโภคบริโภคที่เพียงพอ และพร้อมที่จะสนับสนุนประเทศเพื่อนบ้านได้ทันที

5. ภาคอุตสาหกรรมการประกันภัย : เหตุการณ์นี้เป็นโอกาสในการกระตุ้นให้ประชาชนและผู้ประกอบการตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารความเสี่ยงผ่านระบบประกันภัย อย่างไรก็ตาม ภาครัฐต้องดูแลไม่ให้ต้นทุนเบี้ยประกันเพิ่มสูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อประชาชนและธุรกิจ

6. ภาคประชาชน : การสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของที่อยู่อาศัยและสถานประกอบการเป็นสิ่งสำคัญ ภาครัฐควรมีมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ไม่ให้เกิดภาระหนี้สินซ้ำซ้อน

“ต่อจากนี้ไป ESG และ Risk Awareness ถือเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องเร่งทำ “ภัยพิบัติธรรมชาติจะเป็นความเสี่ยงที่เราต้องเผชิญ การปราบปรามการลดสเป็กวัสดุที่ไม่ได้มาตรฐาน และการให้ความสำคัญกับหลักการ ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล) รวมถึงการสร้าง วัฒนธรรมตระหนักถึงความเสี่ยง ในทุกภาคส่วน จะไม่ใช่เรื่องที่ “ต้องทำ” แต่เป็นสิ่งที่ “ต้องทำอย่างเร่งด่วน” ด้วยความรับผิดชอบและความซื่อสัตย์”

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,085 วันที่ 6 - 9 เมษายน พ.ศ. 2568