นมมะลิชู3กลยุทธ์เพิ่มยอดขาย เห็นช่องออกสินค้าใหม่จับตลาดโฮเรกาปั๊มรายได้อีกทาง

11 ส.ค. 2559 | 13:00 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ส.ค. 2559 | 18:04 น.
นมตรามะลิ ชู 3 กลยุทธ์สร้างยอดขาย 3,800 ล้าน เติบโต 8-10% เร่งเดินหน้ากระจายสินค้าเพิ่มตัวแทนจำหน่ายให้ครบ 20 ราย พร้อมเล็งเปิดขายแฟรนไชส์ปลายปีหน้า ต่อยอดธุรกิจปลายนํ้า ขณะเดียวกันออกสินค้าใหม่จับตลาดโฮเรกามูลค่ากว่าแสนล้าน หวังเพิ่มส่วนแบ่งยอดขายให้ได้ 10%

[caption id="attachment_81043" align="aligncenter" width="388"] พินิจ พัวพันธ์ รองประธาน บริษัท มะลิ กรุ๊ป 1962 จำกัด ในเครือบริษัท อุตสาหกรรมนมไทย จำกัด พินิจ พัวพันธ์ รองประธาน บริษัท มะลิ กรุ๊ป 1962 จำกัด ในเครือบริษัท อุตสาหกรรมนมไทย จำกัด[/caption]

นายพินิจ พัวพันธ์ รองประธาน บริษัท มะลิ กรุ๊ป 1962 จำกัด ในเครือบริษัท อุตสาหกรรมนมไทย จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจการทำตลาดผลิตภัณฑ์ที่ได้จากนมภายใต้แบรนด์ต่างๆ อาทิ มะลิ เบิร์ดวิงส์ ออร์คิด พิมส์ เป็นต้น เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ได้วางกลยุทธ์สร้างการเติบโตในปีนี้ไว้ 3 แนวทาง ได้แก่ 1. การกระจายสินค้าให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น 2. การเพิ่มบรรจุภัณฑ์สินค้าให้หลากหลายมากขึ้น ด้วยขนาดสินค้าที่แตกต่าง และ 3. การสร้างความเกี่ยวพันระหว่างสินค้าและผู้บริโภค เพื่อสร้างการเติบให้บริษัทในอัตรา 8-10% จากปีที่ผ่านมา หรือมีมูลค่า 3,800 ล้านบาท

สำหรับการกระจายสินค้าในปีนี้ได้วางเป้าหมายการเพิ่มตัวแทนจำหน่าย (Distributor) ให้ได้ครบ 20 รายทั่วประเทศ เพื่อผลักดันให้สินค้ากระจายเข้าไปถึงกลุ่มผู้บริโภคได้ทั่วถึงมากขึ้น โดยเฉพาะการกระจายสินค้าไปสู่ร้านกาแฟที่เป็นรถเข็น เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคปัจจุบันหันมาดื่มกาแฟมากขึ้น ปัจจุบันสัดส่วนรายได้หลักยังมาจากช่องทางร้านค้าเทรดดิชันนัลเทรด 60% และช่องทางโมเดิร์นเทรด 40% นอกจากนี้ บริษัทยังวางแผนการเปิดขายแฟรนไชส์ร้านกาแฟที่ใช้ผลิตภัณฑ์นมตรามะลิโดยเฉพาะ เพื่อเป็นการกระจายสินค้าให้ได้เพิ่มมากขึ้นด้วย

"ตอนนี้บริษัทกำลังทำงานร่วมกับผู้ทำธุรกิจกาแฟ เพื่อทำโมเดลร้านกาแฟที่ใช้สินค้านมตรามะลิ เพราะตลาดกาแฟรถเข็นเติบโตมาก รวมถึงตลาดฟูดทรักที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งรูปแบบแฟรนไชส์อาจจะมีตั้งแต่รถเข็นจนไปถึงการทำร้าน เบื้องต้นอาจจะมีร้านต้นแบบเพื่อใช้ในการศึกษาตลาด แต่ตอนนี้ยังไม่มีรูปแบบและรายละเอียด คาดว่าคงเห็นความชัดเจนได้ในช่วงปลายปีหน้า เพราะธุรกิจนี้เป็นธุรกิจปลายน้ำที่มะลิไม่เคยทำมาก่อน จึงต้องศึกษาการทำงานให้ดี การกระจายสินค้าจะทำอย่างไร หากมีคนซื้อแฟรนไชส์จำนวนมาก เป้าหมายสำคัญของการเพิ่มธุรกิจแฟรนไชส์ ก็เพื่อทำให้สินค้ากระจายไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการลดต้นทุนจากการทำตลาด การโฆษณา เพราะสินค้าส่งตรงถึงผู้กลุ่มผู้ซื้อโดยตรง และที่ผ่านมาการแข่งขันของตลาดนมข้นหวานก็รุนแรงด้วย"

ส่วนกลยุทธ์การเพิ่มบรรจุภัณฑ์สินค้าให้หลากหลายมากขึ้น ด้วยขนาดสินค้าที่แตกต่าง ล่าสุด ได้ออกสินค้าใหม่ ผลิตภัณฑ์นมข้นหวานและครีมเทียมพร่องไขมันสูตรใหม่ "มะลิ โปรเฟสชั่นแนล" ที่เจาะตลาดกลุ่มผู้ประกอบการโดยเฉพาะหรือตลาดโฮเรกา โดยสูตรใหม่มีการปรับรสชาติให้มีความเป็นกลาง ที่สามารถใช้ได้กับอาหารทุกประเภท ซึ่งมี 4 ขนาด ได้แก่ ขนาด 385 กรัม 505 กรัม 1 กิโลกรัม และ 2 กิโลกรัม เพื่อรองรับการใช้งานที่หลากหลาย ที่คาดว่าภายในปีนี้จะมียอดขายคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของยอดขายรวม ซึ่งได้เตรียมงบประมาณทำตลาดไว้ 30-40 ล้านบาท จากงบประมาณการทำตลาดรวมทั้งปีประมาณ 100 ล้านบาท

นายพินิจ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันตลาดโฮเรกาโดยเฉพาะร้านกาแฟ เบเกอรี่ และบริการรับจัดเลี้ยง มีมูลค่าปีละกว่า 1 แสนล้านบาท มีอัตราการเติบโตด้วยเลข 2 หลักมาโดยตลอด จึงทำให้บริษัทเห็นโอกาสและช่องทางในการทำตลาด ประกอบกับที่ผ่านมานมตรามะลิเป็นผู้นำตลาดสินค้าที่ใช้ในครัวเรือน จึงได้ออกสินค้าใหม่เพื่อขยายตลาดในกลุ่มดังกล่าว ขณะเดียวกันยังเป็นการเชื่อมโยงสินค้าให้ไปถึงกลุ่มผู้บริโภคในยุคปัจจุบันมากขึ้นด้วย ส่วนตลาดนมข้นหวานและนมข้นจืดมีมูลค่า 6,600-7,000 ล้านบาท ปีนี้คาดว่าจะเติบโต 3%

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,182 วันที่ 11 - 13 สิงหาคม พ.ศ. 2559