27 ก.ย.นี้ ลุ้น "ศาลอาญาคดีทุจริตฯ" ฟันคดีรื้อทีโออาร์-ล้มประมูลสายสีส้ม

26 ก.ย. 2565 | 11:25 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ก.ย. 2565 | 18:32 น.

"ศาลอาญาคดีทุจริตฯ" นัดพิจารณาคดีรื้อทีโออาร์-ล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม หลังบีทีเอสฟ้อง รฟม.-บอร์ดมาตรา36 ละเลยหน้าที่ทำผิดกฎหมาย หวังกีดกันการแข่งขัน เอื้อประโยชน์เอกชนบางราย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันอังคารที่ 27 ก.ย.นี้ เวลา 09.00 น. ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง (ศาล อท.) ถ.เลียบทางรถไฟ ตลิ่งชัน นัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษา คดีหมายเลขดำ อท.30/2564 ระหว่าง บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) โจทก์ และ นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กับคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงมีนบุรี-บางขุนนนท์ (สุวินทวงศ์) รวม 7 คน ในฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และมาตรา 165 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172

 

 

 

นอกจากนี้คดีที่เกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มปัจจุบันมีคดีที่ BTSC ยื่นตามกระบวนการยุติธรรม ในส่วนของศาลปกครองรวม 3 คดี ประกอบด้วย

 

 

1.คดีแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะการประเมินของเอกสารคัดเลือกเอกชน และวิธีการประเมินข้อเสนอด้านเทคนิค ข้อเสนอด้านการลงทุน และผลตอบแทนในการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ในการประกวดราคาครั้งที่ 1 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอนัดตัดสินคดี

2.คดียกเลิกการประกวดราคา และคำสั่งของผู้ว่าการ รฟม.ที่มีคำสั่งและออกประกาศยกเลิกการประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2564 ปัจจุบันศาลปกครองกลางได้พิพากษาเมื่อวันที่ 7 ก.ค.2565 ชี้ว่าการยกเลิกประมูลผลจากการเปลี่ยนหลักเกณฑ์คัดเลือกในครั้งนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย และปัจจุบัน รฟม.อยู่ระหว่างยื่นอุทธรณ์ไปยังศาลปกครองสูงสุด

 

 

3.คดีการกำหนดหลักเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มครั้งที่ 2 ชอบหรือมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นคดีล่าสุดที่บริษัทฯ ได้ยื่นคำร้องตามกระบวนการศาลปกครอง และทางศาลปกครองกลางได้รับไว้พิจารณา ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนพิจารณา แต่ยังไม่มีกำหนดนัดไต่สวนเพิ่มเติม

 

 

รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ระบุว่า รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) ได้ดำเนินการเปิดซองข้อเสนอซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน ของบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) และ ITD Group โดยมีผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรมและผู้ผ่านการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 เข้าร่วม เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารและร่วมเป็นสักขีพยาน เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2565 นั้น

ขณะเดียวกันจากการเปิดซองข้อเสนอประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม มีผลการยื่นข้อเสนอในเบื้องต้น เป็นข้อเสนอผลประโยชน์สุทธิที่คำนวณจากเงินตอบแทนที่ผู้ยื่นข้อเสนอจะให้แก่ รฟม. หักลบด้วยจำนวนเงินสนับสนุนค่างานโยธาที่ผู้ยื่นข้อเสนอจะขอรับจาก รฟม. ปรากฏว่า บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จํากัด (มหาชน) เสนอผลประโยชน์สุทธิ เท่ากับ – 78,287.95 ล้านบาท ขณะที่ ITD Group เสนอผลประโยชน์สุทธิ เท่ากับ – 102,635.66 ล้านบาท

 

 

 

 ทั้งนี้คณะกรรมการคัดเลือกฯ ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2565 ได้พิจารณาผลการประเมินซองข้อเสนอซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน ซึ่งผลปรากฏว่า บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) เป็นผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการประเมินสูงสุด ทั้งนี้ ในลำดับถัดไป รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะดำเนินการเชิญ ผู้ผ่านการประเมินสูงสุดดังกล่าวมาเจรจาต่อรอง ตามขั้นตอนที่ระบุในเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) และพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ต่อไป