นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธาน คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยภายหลังการประชุมกกร.ว่าที่กกร. ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 ซึ่งจะขยายตัวได้ในกรอบ 3.0% ถึง 3.5% ขณะที่มูลค่าการส่งออกคาดว่ายังขยายตัวได้ในกรอบ 7.0% ถึง 8.0% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในกรอบ 6.0% ถึง 6.5%
เนื่องจากประเมินเศรษฐกิจไทยได้อานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีกว่าคาด ท่ามกลางแรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวชัดเจนมากกว่าที่คาด จากผลกระทบของสงครามและปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ โดยเฉพาะปัญหาจากการโจมตีท่อส่งและการระงับส่งก๊าซของรัสเซียซึ่งเพิ่มแรงกดดันต่อวิกฤตพลังงานและความเสี่ยงการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในยุโรป
ส่วนการเติบโตของเศรษฐกิจจีนยังเผชิญข้อจำกัดจากปัญหาการขาดแคลนพลังงานและการล็อกดาวน์ ขณะที่สถานการณ์เงินเฟ้อทั่วโลกยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ธนาคารกลางหลายแห่งเดินหน้าดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวด สวนทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยเฉพาะ Fed ที่ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยแรงต่อเนื่อง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกปรับตัวลดลง ซึ่งมีแนวโน้มทำให้ภาพอุปสงค์ของโลกมีการชะลอตัวลง
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มยืนอยู่ในระดับสูง แม้ว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกจะลดลงต่ำกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาเรล แต่อัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มยืนอยู่ในระดับสูง เนื่องจากต้นทุนการนำเข้าปรับตัวสูงขึ้นจากเงินบาทที่อ่อนค่าอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศยังไม่สามารถลดลงได้มากนัก ขณะที่ค่าไฟฟ้ามีการปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือน ก.ย. รวมถึงการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ ล้วนเป็นปัจจัยกดดันต้นทุนของผู้ประกอบการที่จะต้องส่งผ่านไปยังราคาสินค้าและบริการต่อไป
แต่โชคดีของไทยที่ภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ปรับสูงขึ้นกว่าคาด โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 1.17 ล้านคน คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปี 2565 มีโอกาสแตะระดับ 9 - 10 ล้านคน ส่งผลดีต่อการจ้างงานและรายได้แรงงาน ส่งเสริมอุปสงค์ภายในประเทศให้ทยอยฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อในระดับสูงต่อกำลังซื้อของครัวเรือน และความเสี่ยงต่อรายได้ภาคเกษตรจากภาวะน้ำท่วม
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วม ภาคเอกชนมีความห่วงใยในพื้นที่โซนเมืองในหลายจังหวัด ซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขัง เนื่องจากเป็นพื้นที่เศรษฐกิจกระทบต่อความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพของประชาชน ขณะที่ภาคการเกษตรได้ผลกระทบบ้างในพื้นที่เพาะปลูกข้าวแต่โดยรวมยังไม่กระทบภาพรวมเศรษฐกิจมากนัก ส่วนผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมผู้ประกอบการ ยังมีความมั่นใจว่าจะสามารถรับมือกับความเสี่ยงด้านอุทกภัยได้ คาดการณ์ความเสียหายรวมทั้งประเทศ ประมาณ 5,000 – 10,000 ล้านบาท