บิ๊กเอกชน หนุน สมช.คุมความมั่นคงเศรษฐกิจ จี้ดึง กกร.ร่วมทีมฝ่าวิกฤติ

07 ก.ค. 2565 | 00:10 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.ค. 2565 | 00:38 น.

บิ๊กเอกชนหนุน “บิ๊กตู่” ใช้ สมช.คุมมั่นคงเศรษฐกิจ จี้เร่งคลอดแผนเผชิญเหตุรับวิกฤติพลังงาน-อาหาร หอการค้าฯ แนะดึงทีม ศก.รัฐบาล-กกร.ร่วมทีมเฉพาะกิจ สภาอุตฯ เตือนอย่าชะล่าใจ “ไทยอู่ข้าวอู่น้ำ” ระวังของขาด สรท.ชงแผนรับมือ ท่องเที่ยวขอ “วันวอยซ์” ชิงได้เปรียบแข่งขัน

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) หารือเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานและวิกฤติอาหาร และเตรียมแผนเผชิญเหตุ จากเป็นประเด็นสำคัญของไทยและของโลกหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ขณะสงครามรัสเซีย-ยูเครนยังยืดเยื้อ ทั้งนี้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากหลายภาคส่วน กรณี สมช.เข้ามากำกับดูแลยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ โดยเป็นเจ้าภาพคุมโครงสร้างการบริหารจัดการเพื่อแก้ไขวิกฤติด้านพลังงานและอาหาร จากเดิมบทบาทและภารกิจของ สมช.ส่วนใหญ่จะดูแลด้านความมั่นคงทางการเมือง การทหาร การชายแดน และการป้องกันบรรเทาสาธารณภัยเป็นหลัก

 

ล่าสุดวันที่ 4 ก.ค.2565 ในการประชุม สมช.ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้เห็นชอบตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด ได้แก่ 1.คณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจ มีโครงสร้างคล้ายกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และ 2.คณะกรรมการเฉพาะกิจ (คณะทำงาน) เพื่อติดตามและวิเคราะห์ผลกระทบและจัดทำข้อเสนอการแก้ไขปัญหาทุกมิติ เพื่อจัดทำแผนรองรับทุกด้านตามวิกฤตการณ์ในอนาคต มีกระทรวงการคลังเป็นประธาน ทั้งนี้เพื่อหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับภาคเอกชนต่อไป

 

หอการค้าฯเชียร์-ดึง กกร.ร่วม

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การที่รัฐบาลให้ สมช.เข้ามาดูแลด้านเศรษฐกิจ อาจจะเป็นมิติใหม่ที่เราไม่เคยเห็น แต่เข้าใจว่ามิติด้านเศรษฐกิจในปัจจุบันมีความซับซ้อนมากขึ้นกว่าในอดีต ความมั่นคงหรือความยั่งยืนทางเศรษฐกิจจะเกี่ยวพันกับความมั่นคงของประเทศด้วย และปัจจุบันเรากำลังเน้นเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร พลังงาน รวมถึงความมั่นคงทางเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ ซึ่งอาจมีความทับซ้อนกับมิติที่ สมช.ดูแลอยู่ เช่น เรื่องการค้าชายแดน ดังนั้น การเข้ามาดูแลของ สมช.อาจทำให้มีมุมมองในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจได้ดีขึ้น

 

ทั้งนี้การที่ สมช.เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ถือเป็นสิ่งที่ดี เนื่องจากความมั่นคงของประเทศมีประเด็นที่หลากหลาย รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจที่ไทยกำลังเผชิญอยู่ด้วย ดังนั้นองค์ประกอบของคณะกรรมการที่ สมช.ตั้งขึ้น หากมีหน่วยงานด้านเศรษฐกิจอื่น ๆ ของรัฐบาลเข้ามาร่วม รวมถึงมีภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เข้ามาร่วม ก็จะช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ดีขึ้น

 

สนั่น  อังอุบลกุล

 

เศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าขั้นวิกฤติ

“สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจในประเทศ หอการค้าไทยมองว่ายังไม่เข้าขั้นวิกฤติจนไม่สามารถรับมือได้ เราอาจมีปัญหาเรื่องราคาพลังงานที่แพงขึ้น แต่ก็ยังไม่เกิดวิกฤติอาหาร เรายังสามารถผลิตได้มากพอต่อการบริโภคภายในประเทศ และเหลือพอสำหรับการส่งออก หากความต้องการอาหารในประเทศเพิ่มมากขึ้น เราก็ยังสามารถปรับลดการส่งออก เพื่อใช้บริโภคภายในได้ ประเทศไทยจึงไม่น่าจะเกิดวิกฤติขาดแคลนอาหาร เพียงแต่จะมีราคาที่สูงขึ้นตามต้นทุน และภาวะเงินเฟ้อเท่านั้น”

 

ส่วนด้านพลังงาน ที่ผ่านมาไทยนำเข้าพลังงานประมาณ 10% ของจีดีพี ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่มาก เพราะราคาน้ำมันในตลาดโลกถีบตัวสูงขึ้น แต่ก็ยังไม่อยู่ในภาวะขาดแคลน เชื่อว่าในระยะสั้นนี้ ราคาน้ำมันดิบไม่น่าจะเกิน 120 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล สิ่งสำคัญคือการช่วยกันประหยัดพลังงาน ใช้ให้คุ้มค่าที่สุด รวมทั้งการพัฒนาพลังงานทดแทนอย่างจริงจัง ซึ่งจะเป็นความมั่นคงในระยะยาวต่อไป

 

ทีมเศรษฐกิจนำ-สมช.หนุน

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ สมช.เข้ามากำกับดูแลยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ เริ่มจากคุมโครงสร้างการบริหารจัดการเพื่อรับมือกับวิกฤติพลังงานและอาหาร ในเรื่องนี้สิ่งสำคัญคือจะต้องมีทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ข้อมูลพื้นฐานหรือเป็นลีด ในติดตามและแก้ไขปัญหา ส่วน สมช.เป็นฝ่ายสนับสนุนเพื่อให้การแก้ไขปัญหาที่ดำเนินการไปแล้วก่อนหน้านี้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง

 

ชัยชาญ  เจริญสุข

 

“ทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น สมช. หรือทีมเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องควรต้องร่วมมือกันหาทางออกของปัญหาให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด หากปล่อยให้ยืดเยื้อมากกว่านี้ อาจส่งผลกระทบที่รุนแรงขึ้นไม่ว่าจะเป็นราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง และคาดว่ารัฐบาลอาจจะไม่สามารถอุดหนุนได้ในระยะยาว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าครองชีพของประชาชนสูงขึ้น ต้นทุนภาคการผลิตสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็นต้องปรับขึ้นราคา ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ขณะที่วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสำคัญ ๆ หลายรายการยังคงขาดแคลนต่อเนื่อง”

 

ชี้ระบอบทหารยังมีทีม ศก.

ต่อข้อถามที่ว่า มีประเทศใดบ้างที่ใช้หน่วยงานด้านความมั่นคงของชาติมากำกับดูแลด้านเศรษฐกิจ และได้ผลอย่างไร ประธาน สรท. กล่าวว่า แน่นอนว่า ต้องเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบทหารที่ใช้หน่วยงานด้านความมั่นคงมากำกับดูแลด้านเศรษฐกิจ แต่ถึงจะปกครองด้วยหน่วยงานด้านความมั่นคง ประเทศเหล่านี้ย่อมต้องมีทีมเศรษฐกิจ หรือทีมบริหารประเทศในด้านอื่น ๆ รวมถึงภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือแก้ไขปัญหาให้ครอบคลุมและตรงจุดมากที่สุด ซึ่งคณะกรรมการเฉพาะกิจที่ตั้งขึ้นล่าสุดของไทยคาดจะเป็นในลักษณะเดียวกัน

 

“จะเห็นได้ว่า ในการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้มีการเรียกประชุมหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงกลั่นน้ำมัน สภาหอการค้าฯ และสภาอุตสาหกรรมฯ ร่วมประชุมหารือเพื่อรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะ โดยที่ประชุมเห็นชอบเรื่องแผนเตรียมพร้อมรับสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ ได้แก่ เกษตรและอาหาร ราคาสินค้า การคลัง และพลังงาน รวมถึงประเด็นด้านกฎหมายระยะ 3 เดือน (ก.ค.-ก.ย.65) มาตรการใดจะสามารถขยายระยะเวลาต่อไปได้ และมาตรการใดจะเพิ่มเติมให้อีกได้ระยะ 3 เดือนถัดไป(ต.ค.-ธ.ค. 65) รวมถึงมีการแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจอีก 2 คณะข้างต้น”

 

สำหรับ สรท.มีข้อเสนอแนะรัฐบาลในการรับมือกับวิกฤติ ดังนี้ ด้านพลังงาน ขอให้รัฐบาลรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ผ่านเครื่องมือหรือกลไกในการควบคุมไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคและผู้ประกอบการมากเกินไป และการปรับราคาควรปรับแบบค่อย ๆ ปรับ เพื่อลดผลกระทบและมีเวลาปรับตัวได้ และด้านอาหาร ขอให้ภาครัฐช่วยผู้ผลิตเสาะหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ รวมถึงปุ๋ยเคมี หรือส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาการผลิตวัตถุดิบดังกล่าวภายในประเทศให้มีคุณภาพสูงขึ้น มีต้นทุนการผลิตที่ถูกลง รวมถึงการปรับปรุงเพื่อเพิ่มผลผลิตในประเทศ

 

สภาอุตฯเตือนอย่าชะล่าใจ

นายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานอาวุโส และประธานสายงานส่งเสริมและสนับสนุนสภาอุตสาหกรรมจังหวัด สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า แม้จะมีคำถามว่า การเข้ามากำกับดูแลยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจประเทศของ สมช.เพื่อรับมือกับวิกฤติด้านพลังงานและอาหารจะมีความซ้ำซ้อนกับบทบาทหน้าที่ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์หรือไม่

 

อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์ ณ วันนี้ ที่ประเทศไทยมีความสุ่มเสี่ยงเกิดวิกฤติความมั่นคงด้านพลังงานและอาหาร ส่วนตัวเห็นด้วยที่รัฐบาลใช้ สมช.เข้ามากำกับดูแล เพราะลำพังจะใช้กระทรวงเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและแก้ไขปัญหาคงไม่เพียงพอ เพราะปัจจุบันปัญหามีความซับซ้อน ทำให้เกิดความล่าช้าไม่ทันสถานการณณ์ การมีหน่วยงานกลางเป็นเจ้าภาพในการบริหารจัดการมองเป็นเรื่องที่ดี

 

ทวี  ปิยะพัฒนา

 

 “วันนี้วิกฤติพลังงานแพง เงินเฟ้อพุ่ง เป็นปัญหาร่วมของโลก หากสงครามรัสเซีย-ยูเครนยังยืดเยื้อ มีความสุ่มเสี่ยงราคาจะปรับขึ้นไปอีก ดังนั้นถึงเวลาที่รัฐบาลต้องเร่งรณรงค์ให้ประชาชนประหยัดการใช้พลังงานอย่างจริงจัง รวมถึงบริหารจัดการความมั่นคงด้านอาหารให้ดี อย่าไปชะล่าใจว่า เราเป็นประเทศอู่ข้าวอู่น้ำ ส่งออกข้าว ส่งออกอาหารได้ตลอดไม่มีวันขาดแคลน แต่ในข้อเท็จจริงอาจขาดแคลนได้ เพราะไทยมีปริมาณข้าวสำรองบริโภคในประเทศเพียง1 ปี หากส่งออกมาก ผลผลิตในประเทศลดลง ราคาข้าวในประเทศปรับตัวสูงขึ้น อาจเกิดข้าวยากหมากแพงได้ ดังนั้นต้องบริหารจัดการให้ดี”

 

ท่องเที่ยวขอ “วัน วอยซ์”ชิงได้เปรียบแข่งขัน

ด้าน นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็น สมช. หรือหน่วยงานใด ไม่ใช่ประเด็น ส่วนตัวมองว่าการตัดสินใจช้าเป็นการเสียโอกาส แต่หากการมี สมช.แล้วทำให้เกิดเสียงเดียว (วัน วอยซ์) จะทำให้เกิดการตัดสินใจอย่างรวดเร็ว บนพื้นฐานข้อมูลที่ถูกต้อง ก็จะทำให้เป็นโอกาส ปัจจุบันภาคท่องเที่ยวเที่ยวยังมีปัญหาเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านซัพพลายไซต์ ความไม่สะดวกของลูกค้า รวมถึงปัญหาอุปสรรคของผู้ประกอบการ

 

ชำนาญ  ศรีสวัสดิ์

 

ดังนั้นไม่ว่าจะเป็น สมช.หรือหน่วยงานใดมาขับคลื่อนเศรษฐกิจก็ไม่เป็นไร หากเกิดผลดีต่อประเทศชาติ เพราะในสถานการณ์ปัจจุบันที่ยังมีทั้งโควิด ต้นทุนที่สูงขึ้น และสงครามการท่องเที่ยวที่แต่ละประเทศต่างแย่งชิงนักท่องเที่ยว การตัดสินใจอย่างรวดเร็วจะช่วยได้ ไม่ใช่แต่ละกระทรวงต่างคนต่างทำ ไม่มีเจ้าภาพที่แท้จริง

 

อสังหาฯ รอชมผลงาน

เช่นเดียวกับ นางอาภา อรรถบูรณ์วงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ริชี่เพลซ 2002 จำกัด (มหาชน)ในฐานะนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมอาคารชุดไทย ระบุว่า  เป็นเรื่องที่ดีที่ สมช.มากำกับดูแลยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจในช่วงสถานการณ์วิกฤติ ณ ปัจจุบัน  โดยนายกรัฐมนตรีสามารถใช้หลายกลไกในการกำกับดูแลให้เป็นไป ไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งการแก้ปัญหาพลังงานและขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้เดินไปข้างหน้า แต่จะทำได้รวดเร็ว เห็นผลแค่ไหนขึ้นอยู่กับหน่วยงานรัฐและเอกชนที่ขอความร่วมมือ

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3798 วันที่ 7 – 9  กรกฎาคม 2565