ตั้งรับมวลน้ำเหนือ อธิบดีกรมโยธาฯ ตรวจความพร้อมระบบป้องกันน้ำท่วม นนทบุรี

05 ต.ค. 2565 | 07:31 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ต.ค. 2565 | 15:15 น.

อธิบดีกรมโยธาฯ รุดตรวจความพร้อมระบบป้องกันน้ำท่วม จังหวัดนนทบุรี เตรียมการตั้งรับมวลน้ำเหนือเพิ่มระดับสูง 

 

สถานการณ์ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนในแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดนนทบุรี มีปริมาณสูงและน้ำทะเลหนุน ทำให้ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นกว่า 1.70-2.30 ม. และไหลเข้าท่วมพื้นที่ชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดนนทบุรี ประกอบกับการประเมินฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน)

 

 

 

 

 

วันที่ 5 ต.ค. 2565นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง พร้อมด้วยนายพงษ์นรา เย็นยิ่ง รองอธิบดี นายดุษฎี เจริญลาภ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนนทบุรี และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

 

ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนบางศรีเมือง อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี พร้อมสั่งการเจ้าหน้าที่เตรียมพร้อมรับมือป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนริมน้ำ จากกรณีน้ำทะเลหนุนสูงและมวลน้ำเหนือเพิ่มระดับสูง

ตั้งรับมวลน้ำเหนือ อธิบดีกรมโยธาฯ ตรวจความพร้อมระบบป้องกันน้ำท่วม นนทบุรี

 

 

   นายพงศ์รัตน์ ประเมินว่า จะมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี ในช่วงวันที่ 3 - 9 ตุลาคม 2565 ประมาณ 449.90 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จากอัตรา 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็นอัตรา 800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

 

โดยจะทยอยเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งจะทำให้พื้นที่ริมแม่น้ำป่าสักด้านท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ถึงเขื่อนพระรามหก อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น 1-1.20 เมตร บริเวณท้ายเขื่อนพระรามหก อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น 0.40-0.60 เมตร และจุดบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

 

ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น 0.25-0.50 เมตร ทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อยู่ในเกณฑ์ 3,300 -3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้ระดับน้ำแม่น้ำน้อยเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับลุ่มน้ำยมเกิดน้ำป่าไหลหลาก และมีน้ำจากแม่น้ำปิงไหลมารวมกับแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น

 

เพื่อเป็นการลดผลกระทบน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จากจังหวัดชัยนาทถึงจังหวัดสมุทรปราการ จึงต้องจัดการบริหารน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ 2,700-2,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำด้านเหนือ

ตั้งรับมวลน้ำเหนือ อธิบดีกรมโยธาฯ ตรวจความพร้อมระบบป้องกันน้ำท่วม นนทบุรี

เขื่อนเจ้าพระยาบริเวณอำเภอเมืองชัยนาท และอำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท และอำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.3 เมตร และจะทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป

         

อธิบดี กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว จะทำให้พื้นที่ชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดนนทบุรี ได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ชุมชนบางศรีเมือง ซึ่งเป็นพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

 

จึงสั่งการให้โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนนทบุรี และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เตรียมเครื่องมือ เครื่องจักร ให้มีความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที และตรวจสอบ

 

ความพร้อมของระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนบางศรีเมือง อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี พื้นที่คลองอ้อมนนท์ คลองบางกร่าง คลองบางศรีทอง คลองบางกอกน้อย พื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา  ในการรับมือกับมวลน้ำเหนือ

 

ที่จะทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มระดับสูงขึ้น พร้อมกันนี้ได้สนับสนุนเครื่องสูบน้ำเพื่อช่วยระบายน้ำท่วมขังในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี จำนวน 19 เครื่อง และสนับสนุนเครื่องสูบน้ำ จำนวน 89 เครื่อง ทั่วประเทศ  นอกจากนี้ ขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และข่าวสารจากหน่วยงานราชการ

 

กรมอุตุนิยมวิทยา การแจ้งเตือนภัยของจังหวัด เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือมวลน้ำเหนือไหลสะสมปริมาณมากและเพิ่มระดับสูงขึ้น

ตั้งรับมวลน้ำเหนือ อธิบดีกรมโยธาฯ ตรวจความพร้อมระบบป้องกันน้ำท่วม นนทบุรี