ดร. นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงประเด็นที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เตรียมปรับลดประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2566 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น อัตราเงินเฟ้อที่ผันผวน ต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น และการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานที่ส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องกับเศรษฐกิจโลก
โดยระบุว่า แม้จะเริ่มมีสัญญาณที่ดีจากปัญหาโควิด-19 ที่กลายเป็นโรคเฝ้าระวัง คือ มีผู้ติดเชื้อในระดับที่ไม่รุนแรงมากนัก ประชาชนมีความคุ้นเคยและมีการรักษาตามอาการได้
แต่สถานการณ์เศรษฐกิจโลกกำลังจะเผชิญกับปัญหาที่สำคัญ 4 ปัญหา คือ
วิกฤติการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ วิกฤติความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ วิกฤติเศรษฐกิจภายในจีน และวิกฤติยูเครน-รัสเซีย ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจโลกถดถอย และหลายประเทศเข้าสู่เศรษฐกิจหดตัว
สหรัฐฯ มีปัญหาเงินเฟ้อสูงจากต้นทุนพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น และเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหลังโควิด-19 ทำให้เผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อในระดับที่สูงมากนับตั้งแต่ช่วงปี 1980 จึงมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วและรุนแรง ส่งผลกระทบทำให้ค่าเงินของประเทศต่างๆ ทั่วโลกอ่อนตัวลง
เมื่อค่าเงินของประเทศต่างๆ อ่อนตัวลง ทำให้หลายประเทศเผชิญกับปัญหาเงินไหลออก หลายประเทศเศรษฐกิจภายในเกิดความปั่นป่วนมีปัญหาเงินเฟ้อสูง และต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อชะลอปัญหาเงินเฟ้อ แต่ก็ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างรุนแรง บางประเทศที่กู้หนี้ในรูปของดอลลาร์ก็เสี่ยงที่จะเกิดวิกฤติหนี้ บางประเทศพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศสูง ก็มีต้นทุนการนำเข้าสูงมากขึ้น
ปัญหาอากาศแปรปรวนเข้ามาซ้ำเติมเศรษฐกิจโลก ภัยพิบัติแล้งเกิดขึ้นในยุโรปและจีน ในขณะที่หลายประเทศรวมทั้งไทยเผชิญกับปัญหาพายุและน้ำท่วม
เศรษฐกิจจีนที่เคยเป็นความหวังที่จะเป็นกำลังซื้อให้กับโลก กลับพบกับปัญหาภายในไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามนโยบาย zero covid ทำให้เกิดการล็อคดาวน์ปิดเมือง ปิดเศรษฐกิจ
ประกอบกับภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ส่งสัญญาณอ่อนแอตั้งแต่ก่อนโควิด-19 เกิดวิกฤติรุนแรงจากกำลังซื้อหดตัวลงและปัญหาปริมาณการผลิตล้นเกิน การหมุนเวียนเงินของธุรกิจทำไม่ทัน จีนจึงต้องแก้ไขปัญหาภายในกันเอง ไม่สามารถเป็นที่พึ่งได้เหมือนเช่นในอดีต
วิกฤติยูเครน-รัสเซียเริ่มส่งผลกระทบต่อยุโรปและโลก ผ่านราคาพลังงาน รัสเซ๊ยมีปัญหาการส่งก๊าซธรรมชาติไปใ้ห้ยุโรปทำให้ค่าไฟของยุโรปแพงขึ้นมาก ซ้ำเติมปัญหาค่าครองชีพ ปัญหาวิกฤติจึงเกิดทับซ้อนกันทำให้ปัญหาทวีคูณมากขึ้น
แต่ทั้งนี้เศรษฐกิจในประเทศของไทย กำลังอยู่ในช่วงการฟื้นตัวจากโควิด-19 ทั้งตัวเลขการบริโภคและการท่องเที่ยวภายในประเทศที่ดูดีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากกำลังซื้้อของคนชั้นกลางและคนมีฐานะ และการกระตุ้นของภาครัฐ ทำให้เศรษฐกิจไทยภายในมีความเข้มแข็งที่จะช่วยประคองเศรษฐกิจไปได้
ประกอบกับผลกระทบจากภาคต่างประเทศที่เข้ามากระทบกับไทยจะเข้ามาอย่างจำกัด เนื่องจากเศรษฐกิจไทยเรามีความทนทานต่อการอ่อนค่าของค่าเงินบาท และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กำลังฟื้นตัวได้ดี ซึงหากเทียบกับวิกฤติ 40 จึงไม่น่าจะใช่ เพราะวิกฤติรอบนี้เป็นวิกฤติภายนอกที่กระทบกับไทยอย่างจำกัด
ดร. นณริฏ เสนอมาตรการที่ภาครัฐจำเป็นต้องให้ความสำคัญ คือ 1. สร้างโอกาสจากตลาดส่งออกเฉพาะ เช่น สินค้าเกษตรและอาหารไปยังยุโรปและจีนที่ประสบภัยแล้ง 2. การสร้างไทยให้เป็นแหล่งพักหนีหน้าหนาวสำหรับชาวยุโรป 3. เน้นการท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น (เช่น โครงการเที่ยวด้วยกัน) 4. เน้นช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางจากปัญหาด้านค่าครองชีพ 5. เน้นช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางจากปัญหาภัยน้ำท่วม 6. เตือนประชาชนถึงสถานการณ์เศรษฐกิจในปีหน้า ต้องวางแผนทางด้านการเงินเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจโลก