ภาคใต้มีทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงามสมบูรณ์ เครื่องยนต์เศรษฐกิจสำคัญคือ การท่องเที่ยวภาคเกษตร ตลอดจนอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร แต่ล้วนมีโครงสร้างที่ “กระจุกตัว-มูลค่าเพิ่มน้อย” โดยที่การท่องเที่ยวพึ่งนักท่องเที่ยวจีนและมาเลเซียสูงถึง 41% ที่ท่องเที่ยวหลักอยู่ในฝั่งอันดามันเป็นหลัก ภาคผลิตพึ่งพาสินค้าน้อยชนิด ส่วนใหญ่เป็นสินค้าแปรรูปขั้นกลาง เช่น ยางแท่ง น้ำยางข้น น้ำมันปาล์มดิบ โดย 1 ใน 3 ส่งออกไปตลาดจีน และได้รับผลกระทบหนักช่วงโควิด-19 ระบาด
หลังโควิดคลี่คลาย กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็ทยอยปรับตัวดีขึ้น แต่เป็นการฟื้นตัวท่ามกลางบริบทของกระแสโลกใหม่ที่เปลี่ยนไป นำมาซึ่งโจทย์ใหญ่ของภาคใต้คือ ทำอย่างไรจึงจะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าให้มั่นคงขึ้น มีมูลค่าสูงขึ้น รวมถึงมีภูมิคุ้มกัน เพื่อรองรับความไม่แน่นอนได้ดีขึ้น ซึ่งจะทำให้ภาพของเศรษฐกิจภาคใต้ที่คุ้นเคยเปลี่ยนไปจากเดิม
บทความ “เปิดภาพอนาคตเศรษฐกิจภาคใต้ ท่ามกลางกระแสโลกใหม่” ใน “BOT พระสยาม Magazine” ของธนาคารแห่งประเทศไทย ประมวล 5 ภาพอนาคตเศรษฐกิจใหม่ภาคใต้ ในกระแสดิจิทัลและความยั่งยืน ซึ่งเป็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลง ได้แก่
1. การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ มีแนวโน้มเติบโตได้สูงถึง 21% ต่อปี จากที่นักท่องเที่ยวใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น การเข้าสู่สังคมสูงวัย และการเพิ่มขึ้นของกลุ่มอาชีพดิจิทัล (digital nomad) ภาคใต้พร้อมทั้งทรัพยากรและคน ได้ขับเคลื่อนระดับหนึ่งแล้ว เช่น โครงการระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสอันดามัน ที่จะเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพภูเก็ต-พังงา-กระบี่ และใช้เทคโนโลยีดิจิทัล พัฒนาสู่การท่องเที่ยวทันสมัย ช่วยให้กระจายกลุ่มนักท่องเที่ยวได้ดีขึ้น และยกระดับสู่การท่องเที่ยวมูลค่าสูงได้
2. การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ จะเติบโตได้สูงเช่นกัน จากที่กว่า 60% ของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ที่หนีการเที่ยวในเมืองหลัก สนใจเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นโอกาสของเมืองรอง ที่จะใช้การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ดึงดูดนักท่องเที่ยวผ่านช่องทางออนไลน์ และการสร้างซอฟต์พาวเวอร์
ปัจจุบันเริ่มเห็นหลายชุมชนในภาคใต้ปรับตัวสู่การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์มากขึ้น เช่น โครงการสงขลาสร้างสรรค์ (Songkhla (Oldtown) Creative District) ของอำเภอเมือง จังหวัดสงขลา และการเรียนรู้วิธีทำช็อกโกแลตที่จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยภาครัฐมีส่วนช่วยสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพและดิจิทัล ช่วยเร่งการปรับตัวให้แพร่หลายยิ่งขึ้น
3. การผลิตที่มีมาตรฐานความยั่งยืน จากความตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลก ที่มีแนวโน้มจะกลายเป็นมาตรการกีดกันทางการค้ามากขึ้น ซึ่งภาคการผลิตยากจะหลีกเลี่ยงกระแสนี้พ้น อาทิ อุตสาหกรรมไม้ยางพาราและแปรรูปเพื่อส่งออก ที่ต้องปรับสู่มาตรฐานความยั่งยืนระดับสากล เช่น มาตรฐาน FSC-Forest Stewardship Council ที่คู่ค้าและคู่แข่งจะกดดันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ การรีบปรับตัวจะช่วยขยายฐานลูกค้าในตลาดใหม่ และขายได้ในราคาสูงกว่าปกติ และช่วยรักษาความสามารถการแข่งขันในระยะยาวไว้ได้
4. อาหารแห่งอนาคต จะเติบโตสูงจากผู้บริโภคที่ใส่ใจเรื่องความยั่งยืน และนวัตกรรมอาหารที่ก้าวหน้า โดยเฉพาะอาหารฟังก์ชันและอาหารโปรตีนจากพืช ที่มีแนวโน้มเติบโตประมาณ 7% และ 19% ตามลำดับ ในอีก 10 ปีข้างหน้า
โดยที่ภาคใต้มีวัตถุดิบใน พื้นที่มากมาย ที่สามารถพัฒนาเป็นอาหารแห่งอนาคตได้ เช่น อาหารทะเล ปาล์มน้ำมัน และเห็ดแครง มีสถาบันวิชาการในพื้นที่สนับสนุนงานวิจัย ปัจจุบันเริ่มเห็นตัวอย่างในพื้นที่แล้ว เช่น การสกัดน้ำมันปลาทูน่าต่อยอดเป็นอาหารเสริม พัฒนาเห็ด แครงเป็นผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืช หากยกระดับแพร่หลายไปมากขึ้นจะหนุนให้อุตสาหกรรมอาหารภาคใต้มีมูลค่าสูงขึ้น และ
5. เกษตรแม่นยำ เป็นการทำเกษตรรูปแบบใหม่ที่มีแนวโน้มจะเติบโตสูงในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มผลิตภาพและลดต้นทุน จากการใช้ปัจจัยการผลิตที่มากเกินจำเป็น ที่เริ่มใช้กันแล้วในกลุ่มแปลงใหญ่ เข่น ใช้โดรนพ่นยา ลดค่ายา ค่าแรงงาน และเวลาการทำงาน ทำให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
ภาคใต้มีศักยภาพในการปรับตัวให้สอดรับกับกระแสโลกใหม่ คือ เทคโนโลยีดิจิทัลก้าวหน้า และกระแสรักษ์โลก ที่จะมาเร็วและแรงขึ้นกว่าที่คาด เป็นโอกาสสร้างตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ (new growth drivers) โดยอาศัยการร่วมด้วยช่วยกันจากทุกภาคส่วน หนุนการฟื้นตัวภาคใต้ให้เติบโตมั่นคง พร้อมขยับจากโครงสร้างเศรษฐกิจที่ “กระจุกตัวและมูลค่าเพิ่มน้อย” ไปสู่เศรษฐกิจ “ยั่งยืนและสูงค่า”
เป็นด้ามขวานทองยุคใหม่ที่แท้จริง
วราภรณ์ ชวพงษ์/รายงาน
หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,825 วันที่ 9-12 ตุลาคม พ.ศ.2565