กระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งยกระดับผลิตภาพการผลิตพลิกโฉมอุตฯไทยเติบโตยั่งยืน

11 ต.ค. 2565 | 02:53 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ต.ค. 2565 | 09:56 น.

กระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งยกระดับผลิตภาพการผลิตพลิกโฉมอุตสาหกรรมไทยเติบโตยั่งยืน สุริยะ สั่ง สศอ. ทำมาตรการและแนวทางสนับสนุน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า ก้าวใหม่ของอุตสาหกรรมไทยในยุคความปกติถัดไป (Next Normal) จะต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลิตภาพการผลิตภาคอุตสาหกรรมควบคู่ไปกับการยกระดับภาคอุตสาหกรรมไปสู่อุตสาหกรรมศักยภาพของประเทศ หรือเป็นห่วงโซอุปทาน (Supply Chain) ให้กับอุตสาหกรรมศักยภาพ 

 

และส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมของไทย โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) จัดทำมาตรการและแนวทางการเพิ่มผลิตภาพการผลิตภาคอุตสาหกรรมไทย เนื่องจากเป็นปัจจัยที่จะนำไปสู่การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมได้อย่างยั่งยืน 

 

ซึ่งเป็นการวางรากฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ ตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ได้กำหนดเป้าหมายให้ภาคอุตสาหกรรมมีการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในอัตรา 4.6% และมีการขยายตัวของผลิตภาพการผลิตภาคอุตสาหกรรมในอัตรา 2.2%

"ที่ผ่านมาภาคอุตสาหกรรมของไทยต้องเผชิญกับความท้าทายจากวิกฤตการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งหลังรัฐบาลได้ออกมาตรการต่าง ๆ โดยเฉพาะมาตรการเปิดประเทศ ส่งผลให้การผลิตในภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มมากขึ้น มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น และการบริโภคในประเทศปรับตัวดีขึ้น"  

 

นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวว่า ขณะนี้ สศอ. อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการติดตามผลสัมฤทธิ์การดำเนินโครงการภายใต้แผนแม่บทการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม พ.ศ.2560-2564 เพื่อจัดทำมาตรการและแนวทางการเพิ่มผลิตภาพการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมของไทยให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน

 

โดยได้ศึกษาแนวทางการเพิ่มผลิตภาพการผลิตของต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จมีบริบทใกล้เคียงกับประเทศไทย อาทิ สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ มาใช้เป็นแนวทางในการเพิ่มผลิตภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม 

นอกจากนี้ สศอ. ยังได้ให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน จึงได้ผนึกกำลังเดินหน้ารับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา นักวิชาการ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมายก (ร่าง) มาตรการและแนวทางการเพิ่มผลิตภาพการผลิตภาคอุตสาหกรรมให้รองรับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของบริบทโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และตอบโจทย์การพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยในอนาคต

 

สำหรับการดำเนินงานดังกล่าว จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมไทยมีแนวทางในการเพิ่มผลิตภาพ ทั้งผลิตภาพของสถานประกอบการ และผลิตภาพแรงงาน ควบคู่กับปัจจัยสนับสนุนต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้ภาคอุตสาหกรรมมีกลไกในการขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมได้อย่างยั่งยืนต่อไป