นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนกันยายน 2565 พบว่า ดัชนีมีการปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 44.6 ทั้งนี้เป็นผลมาจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 และเป็นการแบ่งเบาภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน ประกอบด้วยโครงการคนละครึ่งเฟส 5 โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้กับผู้มีบัตรคนจนหรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การเห็นชอบปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 ผ่อนคลายมาตรการในการเดินทางระหว่างประเทศและยกเลิกระบบ ThailandPass
สำหรับคนไทยและชาวต่างชาติพร้อมทั้งปรับระดับพื้นที่สถานการณ์เป็นระดับเฝ้าระวังสีเขียวทั้งประเทศ ตลอดจนมาตรการใส่หน้ากากอนามัยให้เป็นความสมัครใจเพื่อประชาชนและผู้ประกอบการได้ใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติ ซึ่งเป็นผลเชิงบวกต่อการท่องเที่ยวตลอดจนภาคธุรกิจและภาคบริการต่างๆของไทย นอกจากนี้การปรับลดระดับโควิด 19 เป็นโรคติดต่อต้องเฝ้าระวังทำให้บรรยากาศการท่องเที่ยวดีขึ้น การส่งออกและราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น ส่งผลทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในช่วงเดือนกันยายนปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และอยู่ในระดับที่สูงสุดในรอบ 8 เดือนนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นมา
แต่อย่างไรก็ตาม ดัชนียังคงต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงมองสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังฟื้นตัวช้าจากวิกฤตโควิด 19 ในประเทศและทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนเป็นการซ้ำเติมส่งผลต่อจิตวิทยาในเชิงลบ กำลังซื้อในประเทศยังไม่ได้กลับมาเป็นปกติ และปัญหาการเมืองจากตำแหน่งนายกฯ รวมถึงปัญหาน้ำท่วมขยายวง อาจมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคต
นอกจากนี้ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ในเดือนกันยายน ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 38.6 โอกาสในการหางานทำดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 41.9 และรายได้ในอนาคตดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 53.3