นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนกันยายน 2565 พบว่า “ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index: ICI) ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 67.83 ปรับตัวลดลง 41.8% จากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ในเกณฑ์ “ซบเซา” นักลงทุนมองว่าการฟื้นต้วของภาคท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ นโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED รองลงมาคือ การไหลออกของเงินทุน และสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ
ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) สำรวจในเดือนกันยายน 2565 ได้ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้
ผลสำรวจ ณ เดือนกันยายน 2565 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่าความเชื่อมั่นนักลงทุนแทบทุกกลุ่มปรับลดลงโดย นักลงทุนบุคคลปรับลดลง 39.3% อยู่ที่ระดับ 77.33 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับลดลง 28.6% อยู่ที่ระดับ 100.00 กลุ่มนักลงทุนต่างชาติปรับลดลง 60.0% อยู่ที่ระดับ 40.00 ในขณะที่กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับเพิ่ม 6.2% อยู่ที่ระดับ 113.33
อ่านเพิ่มเติม : รายงานดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน ฉบับเดือนตุลาคม 2565
ในช่วงเดือนกันยายน 2565 SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นในสัปดาห์แรกในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นทั่วโลก และทยอยปรับตัวลดลงหลังเผชิญแรงกดดันหลายประเด็น อาทิ ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อสหรัฐเพิ่มขึ้นเกินกว่าคาดซึ่งส่งผลต่อความกังวลต่อการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED แนวโน้มการถดถอยของเศรษฐกิจโลกในปี 2566 ตามที่ธนาคารโลกได้ออกมาประกาศ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย—ยูเครนที่ทวีความตึงเครียดขึ้นหลังรัสเซียสั่งระดมทหารกองหนุนเพิ่มขึ้นเพื่อเตรียมทำสงครามกับยูเครน
นอกจากนี้ การปรับลดน้ำหนักหุ้นไทยของดัชนี FTSE ซึ่งมีผลในวันที่ 16 กันยายน 2565 ยังเป็นอีกปัจจัยที่เพิ่มความกดดันต่อนักลงทุน โดยตลอดทั้งเดือนกันยายน 2565 SET index เคลื่อนไหวในกรอบแคบระหว่าง 1,589.51— 1,665.74 จุดและ SET Index ณ สิ้นเดือนปิดที่ 1,589.51 จุด ปรับตัวลดลง 3% จากเดือนก่อนหน้า ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติกลับมาขายสุทธิในเดือนกันยายน 2565 กว่า 24,279 ล้านบาท โดยตลอดทั้งปี 2565 นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิเป็นมูลค่า 146,465 ล้านบาท
ปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตามได้แก่ แนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นของ FED รวมถึงการขึ้นดอกเบี้ยในระยะถัดไปเพื่อต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อสหรัฐที่ยังคงสูง อีกทั้งนโยบายการเงินของธนาคารกลางในหลายประเทศที่ออกมาเพื่อบริหารจัดการความผันผวนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน แนวโน้มการถดถอยของเศรษฐกิจโลก และสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย—ยูเครนที่ตึงเครียดขึ้นหลังรัสเซียรับรองพื้นที่ 4 เขตในยูเครนให้เป็นดินแดนของรัสเซีย
ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ การเข้าสู่ยุคดอกเบี้ยขาขึ้นของประเทศไทยหลังจากธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งที่ 2 มาอยู่ในระดับ 1% แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ได้แรงหนุุนจากภาคการท่องเที่ยวซึ่งขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่คาดว่าจะมีการเลือกตั้งในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2566