“ประยุทธ์”ต้องตัดสินใจ! รถไฟฟ้า 6.8 หมื่นล้าน

14 ต.ค. 2565 | 04:17 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ต.ค. 2565 | 18:40 น.

“ประยุทธ์”ต้องตัดสินใจ! รถไฟฟ้า 6.8 หมื่นล้าน คอลัมน์ทางออกนอกตำรา โดย...บากบั่น บุญเลิศ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3827

ประเด็นใหญ่ที่สังคมกำลังคาใจอยู่มากในขณะนี้ และตั้งคำถามกันมาก คือ รัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไรกับผลประโยชน์ของประเทศในโครงการก่อสร้างและเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มที่มีส่วนต่างกันมากถึง 6.8 หมื่นล้านบาท!!!

 

ทั้งนี้เพราะเมื่อคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2565 ใน “โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)” ที่ได้พิจารณาผลการประเมินข้อเสนอซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน 

ปรากฏว่า บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการประเมินสูงสุด โดยขอรับการสนับสนุนวงเงินค่าก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ 78,287 ล้านบาท ต่ำสุดจากการแข่งประมูล กำลังกลายเป็นด่านทดสอบครั้งสำคัญของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และประเทศไทย

                          “ประยุทธ์”ต้องตัดสินใจ! รถไฟฟ้า 6.8 หมื่นล้าน


แม้จะมีข้อมูลเชิงประจักษ์ ว่า คู่แข่งในการการประมูลรอบนี้ ทางกลุ่ม ITD Group ได้เสนอผลประโยชน์สุทธิด้วยการขอรับการสนับสนุนวงเงินค่าก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ถึง 102,635  ล้านบาท
 หากพิจารณาจากการประมูลในหลักการว่า ใครเสนอราคาต่ำสุดคนนั้นชนะการประมูล จะพบว่าราคาที่ทางกลุ่ม BEM เสนอให้กับรัฐแตกต่างกับคู่แข่งอยู่มากโขถึง 24,348 ล้านบาท!

ราคาที่ต่างกันเช่นนั้นในภาวะปกติถือว่า “ชอบธรรมอย่างยิ่ง” ที่ทางกลุ่ม BEM ควรจะได้โครงการนี้ไป!!!

 

แต่พอ....วันที่ 17 ก.ย.2565 บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ BTSC ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หรือ BTS เผยแพร่เอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ ว่า “ในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ครั้งแรก ในช่วงปี 2563 กลุ่มบริษัท BTSC  ได้เข้าประมูลและขอรับเงินสนับสนุนจากภาครัฐเพียง 9,676 ล้านบาทเท่านั้น” 

                   “ประยุทธ์”ต้องตัดสินใจ! รถไฟฟ้า 6.8 หมื่นล้าน

ทาง BTSC ยืนยันว่า “ตัวเลขตามข้อเสนอดังกล่าว เป็นข้อเสนอด้านราคาที่ทำได้จริง” 


ส่วนสาเหตุที่ การขายซองประกวดราคาโครงการก่อสร้างและเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มในปี 2565 ที่บริษัทฯ ไม่ได้ยื่นซองประมูล เพราะ “การประมูลโครงการครั้งที่ 2 มีการกระทำที่มีเจตนากีดกันบริษัทฯ และพันธมิตร ไม่ให้มีโอกาสเข้าแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม”

                  “ประยุทธ์”ต้องตัดสินใจ! รถไฟฟ้า 6.8 หมื่นล้าน
ระเบิดว่าด้วยเรื่องราคาที่ขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐในโครงการก่อสร้างและเดินรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่แตกต่างกันถึง 6.8 หมื่นล้านบาท กลายเป็น “ปรมาณู”ถาโถมใส่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กระทรวงคมนาคมทันที


 ใครที่ตัดสินใจให้ BEM ชนะการประมูลไปในวงเงินที่ขอรับการสนับสนุนจากรัฐ 78,287 ล้านบาท ย่อมโดนถล่มยับว่า ไม่รักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน

                         “ประยุทธ์”ต้องตัดสินใจ! รถไฟฟ้า 6.8 หมื่นล้าน
 ครั้นไม่ตัดสินอย่างใดอย่างหนึ่งก็เกิดความเสียหาย ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่...เหนื่อยใจที่สุด


อันว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.9 กม. ซึ่งเป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 27 กิโลเมตร โครงสร้างทางวิ่งยกระดับ 8.9 กิโลเมตร จำนวน 28 สถานี เป็นสถานีใต้ดิน 21 สถานี สถานียกระดับ 7 สถานี 

                    “ประยุทธ์”ต้องตัดสินใจ! รถไฟฟ้า 6.8 หมื่นล้าน
เส้นทางแรก เริ่มต้นที่สถานีบางขุนนนท์ เป็นอุโมงค์ใต้ดิน วิ่งไปตามแนวทางรถไฟเดิมไปยังโรงพยาบาลศิริราช จากนั้นจึงวิ่งลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา ขนานไปกับสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ลอดใต้พื้นที่ถนนราชดำเนิน ผ่านสนามหลวง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วิ่งไปตามแนวถนนหลานหลวง จนถึงแยกยมราช ไปถนนเพชรบุรี จนถึงสี่แยกประตูน้ำ 

                             “ประยุทธ์”ต้องตัดสินใจ! รถไฟฟ้า 6.8 หมื่นล้าน


 จากนั้นจึงเลี้ยวซ้าย ลอดใต้ถนนราชปรารภ ไปถึงสามเหลี่ยมดินแดง เลี้ยวซ้ายไปตามแนวถนนวิภาวดีรังสิต ผ่านกรุงเทพมหานคร 2  ลอดผ่านชุมชนประชาสงเคราะห์ ไปยังสถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย 


 เส้นทางที่สอง จะวิ่งขนานไปตามแนวถนนพระราม 9 ไปยังสถานี รฟม. ลอดใต้คลองแสนแสบ เลี้ยวซ้ายไปตามถนนรามคำแหง ผ่านแยกลำสาลี ไปจนถึงคลองบ้านม้า 


 ช่วงตั้งแต่บ้านม้าเป็นต้นไป...จะเปลี่ยนจากวิ่งในอุโมงค์ใต้ดิน ยกขึ้นเป็นทางวิ่งยกระดับ ตามแนวถนนรามคำแหง ไปจนถึงคลอง 2 ที่สถานีมีนบุรี ก่อนสิ้นสุดที่สถานีสุวินทวงศ์ บริเวณสามแยกรามคำแหง -สุวินทวงศ์


 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ -มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร ที่ตัดขวางกับรถไฟสายสีเขียวที่เป็นระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่หลักในมหานครอันศิวิไลย์ จึงเป็น “เส้นทางไข่แดง” ของประเทศในระยะอันใกล้หากเปิดเส้นทางการเดินรถอย่างเป็นทางการ


 ด้วยปริมาณเม็ดเงินการลงทุนที่ขอรับการสนับสนุนจากรัฐในโครงการเดียวกัน แต่ประมูลห่างกันแค่ 2 ปี ทว่าราคาที่เอกชน 2 ราย เสนอมาแตกต่างกันมหึมาราว 6.8 หมื่นล้านบาท นี่แหละที่เป็นปมใหญ่และสังคมคาใจกันอย่างมาก


 หลายคนไม่ทราบว่า ราคา 6.8 หมื่นล้านบาทนั้น มากโขขนาดไหน ผมขอพามาดูชัดๆ เพื่อพิจารณาตัดสินใจ

                          “ประยุทธ์”ต้องตัดสินใจ! รถไฟฟ้า 6.8 หมื่นล้าน
 6.8 หมื่นล้านบาท เท่ากับ เงินลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศที่ขอเข้ามาลงทุน ใน 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย.) ปี 2565 ของนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 55 ราย กว่า 29,461 ล้านบาท บวกกับเงินลงทุนของต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย  284 ราย เม็ดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 69,949 ล้านบาท จ้างงานคนไทยกว่า 3,164 คน


 6.8 หมื่นล้านบาท มากกว่า การลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าภูเก็ต ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลองที่เรียกร้องกันมายาวนาน ซึ่งมีวงเงินลงทุนโครงการรวม 35,000 ล้านบาท ระยะทาง 41.7 กิโลเมตร จำนวน 21 สถานี อยู่มากโข

                               “ประยุทธ์”ต้องตัดสินใจ! รถไฟฟ้า 6.8 หมื่นล้าน
 

6.8 หมื่นล้านบาท มากกว่า โครงการลงทุนรถไฟฟ้าจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง ช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะ สมานสามัคคี ที่เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา (LRT) ถือเป็นโครงการสนับสนุนการท่องเที่ยววงเงินลงทุนโครงการ 27,000 ล้านบาท ระยะทาง 15.8 กิโลเมตร ที่มีจำนวนสถานีทั้งหมด 16 สถานี แบ่งเป็นสถานีระดับพื้นดิน 9 สถานี และสถานีใต้ดิน 7 สถานี รูปแบบเป็นระบบรถรางไฟฟ้า (LRT/Tram) เรียกว่า สร้างรถไฟฟ้าในเชียงใหม่ได้ 3 สาย

 

6.8 หมื่นล้านบาท ใกล้เคียงกับแผนการลงทุนเพื่อยกระดับ เมืองพัทยาเดินหน้าสู่การเป็น “นีโอพัทยา” มหานครที่น่าเที่ยว-น่าอยู่อาศัย และน่าลงทุนอย่างยั่งยืน ผ่าน 7 โครงการ วงเงินประมาณ 8 หมื่นล้านบาท


 1. โครงการบริหารจัดการปัญหาน้ำท่วมแบบเบ็ดเสร็จ โดยบูรณาการความร่วมมือกับกรมโยธาธิการ จัดทำระบบบริหารจัดการน้ำ ทั้งทางระบายน้ำ ระยะทาง 110 กม. และบ่อหน่วงน้ำขนาดยักษ์ ภายใต้กรอบวงเงิน 17,800 ล้านบาท


 2. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบบำบัดน้ำเสีย จากวันละ 100,000 ลูกบาศก์เมตร เป็นวันละ 300,000 ลูกบาศก์เมตร วงเงิน 750 ล้านบาท โดยร่วมกับสำนักงานอีอีซีดำเนินการปรับปรุงพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสีย

                           “ประยุทธ์”ต้องตัดสินใจ! รถไฟฟ้า 6.8 หมื่นล้าน
 3.โครงการระบบขนส่งมวลชนสาธารณะแบบโมโนเรล เชื่อมระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูงและรถไฟรางคู่ 3 สายทาง รวมระยะทาง 34 กม.วงเงิน 50,000 ล้านบาท ในรูปแบบโครงการร่วมลงทุน PPP ที่ได้สำรวจออกแบบเรียบร้อยแล้ว


4. โครงการพัฒนาแผนแม่บทดิจิทัลและเทคโนโลยีสารสนเทศเมืองพัทยา วงเงินงบประมาณ 500 ล้านบาท โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยบูรพา จัดทำแผนแม่บทดิจิทัล เทคโนโลยีสารสนเทศ-การสื่อสารเมืองพัทยา (ระยะเวลา 5 ปี) เพื่อยกระดับเทคโนโลยี 5 ยุทธศาสตร์ 1. พัฒนาคน 2.พัฒนาบริการ 3. พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล 4. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานความมั่นคงปลอดภัยดิจิทัล และ 5. ส่งเสริมการจัดการองค์กรดิจิทัลสมรรถนะสูง


 5. โครงการพัฒนาพื้นที่ตลาดนาเกลือ หรือ นีโอนาเกลือ หรือ โอลด์ทาวน์นาเกลือ วงเงิน 600 ล้านบาท เพื่อปลุกตำนานของนาเกลือให้กลับคืนสู่ความมีชีวิตชีวาให้คนรุ่นปัจจุบันได้สัมผัส คาดว่าจะดำเนินการได้เรียบร้อยภายในปี 2565

                  
 6. โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณท่าเรือพัทยาใต้ หรือท่าเรือบาลีฮาย เชื่อมต่อวอล์คกิ้งสตรีท ครอบคลุมพื้นที่ 160,000 ตารางเมตร วงเงิน 4,000 ล้านบาทบาท ร่วมกับ กรมเจ้าท่า และกรมโยธาธิการ พัฒนาท่าเทียบเรือ ศูนย์ธุรกิจการค้า ลานสันทนาการ เชื่อมต่อกับวอล์คกิ้งสตรีท ครอบคลุมพื้นที่ 160,000 ตารางเมตร เพื่อเป็นศูนย์ธุรกิจและนันทนาการครบวงจรของเมืองพัทยา


 7. โครงการนีโอเกาะล้าน 250 ล้านบาท เพื่อพัฒนาเกาะล้านครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม สาธารณูปโภค ปรับปรุงท่าเทียบเรือ เส้นทางจราจร ปรับปรุงภูมิทัศน์ จุดชมวิว ระบบบำบัดน้ำเสียชุมชน การบริหารจัดการด้านความปลอดภัย เพื่อให้เกาะล้านเป็นสถานที่ท่องเที่ยวหลักของเมืองพัทยา
 6.8 หมื่นล้านบาท

 

เท่ากับ แผนลงทุนใน “โครงการผันน้ำจากแม่น้ำยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ไปยังอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก” ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ที่ต้องการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่ยวม แล้ววางท่อผันน้ำจากอ่างน้ำยวมไปยังอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล มูลค่าโครงการกว่า 7 หมื่นล้านบาท

                     “ประยุทธ์”ต้องตัดสินใจ! รถไฟฟ้า 6.8 หมื่นล้าน
โครงการนี้ ตามแผนงานที่ศึกษาไว้จะช่วยเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกพืชช่วงฤดูแล้งขึ้นราว 1.6 ล้านไร่ มีน้ำอุปโภค-บริโภคเพิ่มขึ้นปีละ 300 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าเขื่อนภูมิพลได้ปีละ 417 ล้านหน่วย แต่ปัจจุบันยังถูกพับแผนใส่ลิ้นชักไว้เนื่องจากถูกต่อต้าน


หากยังไม่เห็นภาพชัด เงินที่แตกต่างกันราว 6.8 หมืนล้านบาทเทียบเท่ากับ โครงการมอเตอร์เวย์จากชลบุรี-ปราจีนบุรี มูลค่าการลงทุน  70,854.8 ล้านบาท ที่เริ่มต้นบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ไปสิ้นสุดบริเวณทางหลวงหมายเลข 359 รวมระยะทาง 125 กม. ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด 10 อำเภอ ไล่จาก.ชลบุรี ได้แก่ อ.บางละมุง อ.ศรีราชา อ.หนองใหญ่ อ.บ้านบึง อ.บ่อทอง และ อ.เกาะจันทร์ จ.ฉะเชิงเทรา ได้แก่ อ.แปลงยาว อ.สนามชัยเขต และ อ.พนมสารคาม และ จ.ปราจีนบุรี ได้แก่ อ.ศรีมหาโพธิ ซึ่งโครงการนี้แบ่งเป็น 2 ตอน คือ ท่าเรือแหลมฉบัง-ทางหลวงหมายเลข 3340 ระยะทางประมาณ 63.4 กม. และทางหลวงหมายเลข 3340-ปราจีนบุรี ระยะทาง  60.6 กม.


โครงการนี้ ผลของการศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจของโครงการ พบว่ามีอัตราส่วนผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR) 13.4% มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) 11,902.74 ล้านบาท และค่าอัตราส่วนระหว่างมูลค่าปัจจุบันของผลประโยชน์ต่อค่าใช้จ่าย (B/C ratio) เท่ากับ 1.2 


 เส้นทางนี้ จะเป็นเส้นทางรองรับการพัฒนาพื้นที่ EEC และการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เชื่อมต่อการค้าการลงทุนและการเดินทางระหว่างประเทศไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้านในอนาคต

 

เห็นภาพชัดเจนมั้ยครับว่า ทำไมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเข้ามาตัดสินใจในเรื่องนี้


 แม้ทาง รฟม.กระทรวงคมนาคม จะพยายามชี้แจงกรณีการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ว่า ดำเนินการโดยคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 มีผู้แทนจากหลายหน่วยงาน ได้แก่ รฟม. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) สำนักงบประมาณ (สงป.) กระทรวงคมนาคม สำนักงานอัยการสูงสุด และผู้ทรงคุณวุฒิ 2 ท่าน


มีผู้แทนจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) 5 ท่าน เข้าร่วมสังเกตการณ์ในกระบวนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนและ ไม่ปรากฏว่า คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้รับแจ้งข้อสังเกตใดจากผู้สังเกตการณ์ 
 ขณะที่ ตัวเลขของผลประโยชน์ของรัฐที่เอกชนเสนอแตกต่างกันมากถึง 6.8 หมื่นล้านบาท ตามที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวอ้างนั้น น่าจะเป็นการเปรียบเทียบกับตัวเลขข้อเสนอที่เอกชนรายหนึ่งทำการเปิดเผยตัวเลขผลประโยชน์ของรัฐที่อ้างว่าเป็นข้อเสนอตามประกาศเชิญชวนฯ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ซึ่งได้ยกเลิกไปแล้ว 

 

รฟม.จึงระบุว่า ข้อเสนอที่กล่าวอ้างจึงมิได้ผ่านการพิจารณาตามเกณฑ์การประเมินที่ประกอบด้วยข้อเสนอด้านคุณสมบัติ ข้อเสนอด้านเทคนิค และข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน รวมถึงเงื่อนไขข้อจำกัดต่าง ๆ 


 ตัวเลขที่มีการกล่าวอ้าง จึงไม่สามารถยืนยันที่มาที่ไปได้ จึงไม่น่าเชื่อถือ และไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้กับข้อเสนอที่ผ่านการประเมินตามหลักเกณฑ์กำหนด!!!


 ด้วยจุดยืนแบบนี้แหละครับที่สังคมคาใจ


 วิญญูชนพึงพิจารณาด้วยจิตเป็นธรรมก็จะบอกได้ว่า...ถ้ามีคนมาบอกท่านว่า บริษัทท่านซื้อของแพงกว่าที่อื่น 6.8 หมื่นล้านบาท ท่านจะฟังหรือไม่ ท่านจะทำอย่างไร


 1.เฉย สั่งเดินหน้าลุยต่อไป


2.สั่งระงับ ทบทวน ตรวจสอบ สอบทาน


3.สั่งล้มโครงการไป เมื่อได้ข้อมูลเปรียบเทียบในเชิงประจักษ์ แล้วสั่งลงโทษลูกน้อง


ทุกอย่างอยู่ที่ท่านจะพิจารณาครับ ผมแค่เป็นกระจกสะท้อนครับ…เพี้ยง!