ค้างเติ่งสำหรับรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี(สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5กิโลเมตรของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) แม้การก่อสร้างจะแล้วเสร็จเกือบ100% แต่การเปิดให้บริการเดินรถที่ประชาชนใจจดใจจ่อรอคอยต้องทอดเวลาออกไปไม่ต่ำกว่าสองปี ส่งผลกระทบต่อการเดินทาง รวมไปถึงโครงการอสังหาริมทรัพย์ตลอดแนวที่กำลังเปิดขาย
มัดรวมงานโยธาส้มตะวันตก-เดินรถทั้งระบบ
เนื่องจากต้องรอผู้ชนะประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกและการให้บริการเดินรถทั้งระบบ ตาม มติคณะรัฐมนตรี(ครม.)ปี2563 เห็นชอบให้ รฟม. ลงทุนโครงการในรูปแบบ PPP Net Cost โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์- มีนบุรี(สุวินทวงศ์) ระยะทางรวม 35.9กิโลเมตร มูลค่า1.42แสนล้านบาท
ทั้งการก่อสร้างในส่วนตะวันตก6ปี และมัดรวมส่วนเดินรถฝั่งตะวันตก-ฝั่งตะวันออกเข้าด้วยกันเป็นสัญญาเดียวรวมระยะเวลาสัมปทาน30ปี โดยให้เริ่มนับหนึ่งการให้บริการเดินรถปี2566 ในส่วนของสายสีส้มตะวันออกที่จะแล้วเสร็จตามแผน หลังได้ลงมือตอกเข็มตั้งแต่ปี2561
ล้มประมูลชนวนเสียโอกาส
สำหรับชนวนเหตุที่ทำให้ประชาชนเสียโอกาสเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนทางราง ล่าช้า ประเทศสูญเสียความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ เป็นเพราะรฟม.สั่งล้มประมูล รถไฟฟ้า สายสีส้มตะวันตก กลางคัน วันที่3กุมภาพันธ์ 2564
ประเมินว่าอาจต้องการปลดเปลื้องพันธนาการให้หลุดพ้นจากคดีที่อยู่ในศาลปกครอง กรณีปมแก้ไขเกณฑ์ประมูลที่บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด(มหาชน) หรือ บีทีเอสซี หนึ่งในผู้แข่งขันเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง และขอคุ้มครองการประมูลชั่วคราว
ส่งผลกระทบต่อการเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มต้องลากยาวออกไป และแม้ว่าการประมูลรอบสองจะได้ตัวเอกชนผู้ชนะประมูล แต่หลายฝ่ายเกิดแคลงใจสงสัยว่าเหตุใดรฟม.
และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ต้องมุ่งมั่นกับการแก้ไขเกณฑ์ทีโออาร์และเพิ่มสเปกให้กับผู้เข้าแข่งขัน ขณะตามข้อเท็จจริงเอกชนส่วนใหญ่ต่างมีทักษะขีดความสามารถสูงเป็นทุนอยู่แล้ว
สูญเสียทางเศรษฐกิจ
นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ สะท้อนว่าหากรฟม.ไม่ล้มประมูลในรอบแรก เชื่อว่า การเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตะวันออก จะเป็นไปตามแผนเดินรถในปี 2566
นอกจากนี้รัฐยังเสียประโยชน์น้อยที่สุด สะท้อนจาก การเปิดข้อมูลการยื่นข้อเสนอของการประมูลรอบแรก บีทีเอสซี เป็นฝ่ายให้ข้อเสนอขอรับสนับสนุนเงินค่าก่อสร้างจากรัฐ เพียง 9,600ล้านบาทซึ่งต่ำกว่าราคากลางกว่าหมื่นล้านบาท ขณะผลการประมูลรอบสอง ผู้ชนะให้ข้อเสนอขอรับเงินสนับสนุนเงินก่อสร้าง 7.8หมื่นล้านบาท
เมื่อนำมาบวกลบ จะมีส่วนต่างมากถึง 6.8หมื่นล้านบาท ที่ทำให้รัฐเสียประโยชน์ ขณะการสูญเสียทางเศรษฐกิจ จากกรณีเลื่อนการเดินรถไฟฟ้าสายสีส้ม
1.เสียเวลาการเดินทางเสียโอกาสทางธุรกิจอื่นๆ
2.เกิดการเผาผลาญพลังงานน้ำมันทิ้งอย่างน่าเสียดาย
3.ลดปัญหามลพิษช้าลงฯลฯ
สอดคล้องกับการคำนวณมูลค่า ความสูญเสียทางเศรษฐกิจต่อปี ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมิน จะสูงถึง4.6หมื่นล้านบาทต่อปี รวม2ปี อยู่ที่ 9.2หมื่นล้านบาทเมื่อนำ ตัวเลข9.2หมื่นล้านบาทนำมา รวมกับ
มูลค่าที่รัฐเสียประโยชน์ ที่ 6.8หมื่นล้านบาทจะอยู่ที่ 1.6แสนล้านบาทถือเป็นตัวเลขที่สูงไม่น้อยนับตั้งแต่มีการลงทุนโครงการรถไฟฟ้า ทั้งนี้นายสามารถยังระบุว่า ทุกฝ่ายสามารถทักท้วงได้ ตราบใดที่ยังไม่ได้ลงนามในสัญญา เพราะยังมีขั้นตอนอีกมากต้องผ่านคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (บอร์ดรฟม.) ,กระทรวงคมนาคมและด่านสุดท้ายคือครม.
เอาเป็นว่าหากไม่มีคลื่นแทรกทางการเมืองเชื่อว่าปีหน้าประชาชนคนไทยคงได้นั่งรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออกกันแล้ว !!!