เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2565 ภาวะเศรษฐกิจไทยยังหนาวๆ ร้อนๆ ว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือ จีดีพีของประเทศ จะเป็นไปตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ไว้ที่ 2.7-3.2 % หรือไม่ หลังจากเศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย
ขณะที่หลายฝ่ายออกมาเตือนรัฐบาลให้เร่งหาทางรับมือทั้งภาวะเงินเฟ้อ ที่มาจากราคาพลังงาน และภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ที่จะสร้างภาระให้กับประชาชนเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ลดภาระค่าครองชีพ เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าต่อไปได้
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เชิญหน่วยงานต่างๆ เข้ามาหารือและติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจในปี 2565 นี้ ต่อเนื่องถึงช่วงปี 2566 หลังจากประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และการเกิดเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ในหลายประเทศ จึงต้องเร่งหาทางรับมืออย่างเร่งด่วน เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทย
“หนึ่งในแนวทางสำคัญที่ได้หารือกัน คือ รัฐบาลเตรียมจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ คาดว่าจะออกมาได้ในช่วงเดือนพฤศจิกายน หรือ ต้นเดือนธันวาคม 2565 นี้ โดยหน่วยงานต่าง ๆ ต้องไปรวบรวมข้อมูลมาตรการมาอีกครั้ง เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน” แหล่งข่าวระบุ
สำหรับวงเงินที่จะนำมาใช้นั้น ทางกระทรวงการคลังกำลังพิจารณาแหล่งเงิน เพื่อนำมาใช้ในการออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปีนี้ โดยเบื้องต้นประเมินว่าอาจจะมีการใช้เม็ดเงินประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งอาจนำเงินที่เหลือจากพ.ร.ก.กู้เงินโควิด-19 วงเงิน 5 แสนล้านบาท ปัจจุบันมีรายงานว่า ได้มีวงเงินเหลือจากโครงการต่างๆ ที่ใช้ไม่หมด อาจนำมาใช้ในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ได้
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ขณะนี้ สศช. และหน่วยงานต่าง ๆ ได้รับมอบหมายให้ไปรวบรวมข้อมูลของขวัญปีใหม่ที่เตรียมจะมอบให้ประชาชน คาดว่าในเร็ว ๆ นี้จะได้ข้อสรุป ส่วนการพิจารณาเงินกู้จาก พ.ร.ก.กู้เงินโควิด-19 เพิ่มเติมฯ วงเงิน 5 แสนล้านบาทนั้น ปัจจุบันมีวงเงินที่หน่วยงานบางแห่งคืนเงินเหลือจ่ายจากการทำโครงการต่างๆ มายัง สศช. แล้ว รวมประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งวงเงินดังกล่าวจะไม่สามารถอนุมัติโครงการใหม่ได้แล้ว เพราะสิ้นสุดระยะเวลาการพิจารณาตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม การพิจารณาวงเงินที่เหลืออยู่ของ พ.ร.ก.กู้เงินโควิด-19 นั้น สศช.อาจทำได้แค่ขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการได้บางโครงการเท่านั้น ขณะเดียวกันยังอาจพิจารณาปรับปรุงรายละเอียดของระเบียบของ พ.ร.ก.ในบางกรณี เพื่อนำเงินออกมาใช้ได้ แต่จะใช้เฉพาะในกรณีของการวิจัยและพัฒนาวัคซีน mRNA ซึ่งเตรียมเอาไว้รองรับอนาคต
นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า สำหรับงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี จะใช้วงเงินราว 1.7 หมื่นล้านบาท เบื้องต้นนายกรัฐมนตรีต้องการให้ดำเนินการจะเป็นโครงการที่เคยได้ผลมาแล้ว ได้แก่ โครงการ เราเที่ยวด้วยกัน และโครงการ คนละครึ่ง ที่ต้องขอใช้งบกลางฯ เนื่องจากงบประมาณปี 2566 ไม่ได้มีการตั้งงบประมาณในส่วนนี้ไว้ นอกจากนี้ วงเงินกู้สำหรับโควิด-19 นั้นไม่สามารถที่จะใช้ได้แล้วเนื่องจากตามกฎหมายได้ระบุว่าเงื่อนไขของการใช้เงินกู้โควิด-19 ไว้ถึงแค่วันที่ 30 กันยายน ที่ผ่านมา
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานหอการค้าไทย กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกถดถอยมาจากภาวะเงินเฟ้อที่หลายประเทศออกมาตรการเพื่อกดเงินเฟ้อไม่ให้พุ่งไปมากกว่านี้ ในส่วนของไทยเองต้องดูพื้นฐานว่ามีอะไรถดถอย เพราะขณะนี้ไทยอยู่ในช่วงเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว แต่จะหลีกเลี่ยงอย่างไรที่กำลังซื้อทั่วโลกลดลง ก็ต้องมีการส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ผลิตสินค้าที่ตรงกับกำลังซื้อ โฟกัสไปที่สินค้าที่ลูกค้าต้องการและจำเป็น เช่น กลุ่มอาหาร สินค้าที่ใช้ประจำวัน แม้ว่าหลายประเทศหรือประชาชนมีกำลังลดลงแต่สินค้าที่จำเป็นก็ยังคงต้องซื้อ และต้องพยายามหาตัวช่วย ที่จะมาเติมจีีดีพีประเทศ
นางสาววรลักษณ์ ตุลาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ทุกครั้งที่ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะมีอิมแพค ไม่ว่าจะเป็นโครงการ คนละครึ่ง, เราเที่ยวด้วยกัน, ช้อปดีมีคืน, ยิ่งใช้ยิ่งได้ ฯลฯ ล้วนส่งผลต่อการจับจ่ายของคนไทย ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ
"อยากให้ภาครัฐออกนโยบายส่งเสริมและดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติควบคู่กันไป ไม่ว่าจะเป็นมาตรการด้านวีซ่า, Tax Refund รวมถึงมาตรการการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติในห้างสรรพสินค้า เป็นต้น"นางสาววรลักษณ์กล่าว
ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ นักวิชาการด้านค้าปลีก เห็นว่า งบประมาณของภาครัฐมีเหลือไม่มาก ดังนั้นการ กระตุ้นการใช้จ่าย ควรจะต้องเจาะกลุ่มที่มีกำลังซื้อ โดยเลือกใช้โครงการ ช้อปดีมีคืน ที่ยังพอมีกำลังซื้อและมีกำลังการจับจ่ายราว 4 ล้านคน ให้ออกมาจับจ่ายซื้อสินค้าให้เกิดการหมุนเวียน นอกจากนี้รัฐบาลควรส่งเสริมโครงการเราเที่ยวด้วยกันต่อเนื่อง เพราะภาคการท่องเที่ยวยังเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะยาว
นายมีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า ของขวัญปีใหม่’ ที่ดีที่สุดของคนไทย คือ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ สนับสนุนการอยู่ดีกินดีของประชาชน โดยเฉพาะ ให้คนตัวเล็กรายได้น้อย สามารถ ทำงานหารายได้เลี้ยงชีพตัวเองได้มากขึ้น จากแรงกดดันหลายด้าน
ดังนั้น จึงต้องการให้รัฐบาลออกนโยบายสนับสนุน มาตรการกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ เช่น การแก้กฎหมายเช่าที่ดิน ให้มากกว่า 30 ปี เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจกล้าลงทุนก่อสร้าง ผลักดันโมเดลสนับสนุนคนรวยมีเงิน ลงทุนในอสังหาฯ ปล่อยเช่าคนรายได้น้อย ผ่านการลดหย่อนทางภาษี เพื่อให้คนระดับล่าง มีโอกาสเข้าถึงที่อยู่อาศัย ต่ออายุมาตรการลดค่าโอน-จดจำนอง เหลือ 0.01% ต่อไปอีก หลังจากจะหมดเขต 31 ธันวาคมปีนี้ เพื่อเป็นการสร้างบรรยากาศการซื้อ-ขาย ที่ดี เป็นแรงจูงใจ ในฝั่งผู้บริโภค
นายวรวุฒิ กาญจนกูล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน สะท้อนว่าสมาคมฯมีความกังวลเกี่ยวราคาพลังงาน ที่มีผลต่อต้นทุนค่าขนส่ง วัสดุก่อสร้างขยับขึ้น โดยเฉพาะเหล็ก ปูนซิเมนต์ โครงสร้างหลักของการสร้างบ้าน อย่างไรก็ตามต้องการให้รัฐควบคุมราคาพลังงานไม่ให้สูงไปกว่านี้ เพราะปี 2565 ราคาวัสดุ ปรับตัวสูงกว่า 10% หากไม่สามารถควบคุมราคาพลังงานได้จะทำให้ต้นทุนการก่อสร้างบ้านสูงขึ้นและเป็นสาเหตุการชะลอตัดสินใจของผู้บริโภคในที่สุด
นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า อยากให้ผลักดันโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5 เพื่อกระตุ้นเม็ดเงินด้านการท่องเที่ยว รวมถึงการขอให้รัฐบาลสนับสนุนเม็ดเงินเพื่อดำเนินโครงการ Booster Shot ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อเติมนักท่องเที่ยว รวมไปถึงการเติมเม็ดเงิน ให้ ททท./สสปน./อพท./ทีเส็บ ทำ Hard Sales เพิ่มยอดนักท่องเที่ยว แข่งขันกับนานาชาติได้ ต่อยอดปี 2566
การร่วมมือระหว่างรัฐ&เอกชน ร่วม Re-Design เพื่อสร้างสมดุลย์ 4 มิติ ได้แก่ 1.ระยะสั้น /ระยะยาว ที่ต้องเน้นการเติมทุน เติมลูกค้า เติมความรู้/พัฒนาท่องเที่ยวสู่ความยั่งยืน 2.คนตัวเล็ก/คนตัวใหญ่ พัฒนาท่องเที่ยว เพื่อคนทุกคน ได้ประโยชน์ 3.เมืองหลัก/เมืองรอง เน้นกระจายนักท่องเที่ยว แก้ปัญหา Over Tourism และ4.Natural/Man make ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ให้เสียหายน้อยลง
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,826 วันที่ 13 - 15 ตุลาคม พ.ศ. 2565