"อาคม" ถก G20 นำความร่วมมือด้านภาษีระหว่างประเทศ เซฟเศรษฐกิจถดถอย

15 ต.ค. 2565 | 03:35 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ต.ค. 2565 | 10:49 น.

รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ร่วมประชุม G20 ถกปัญหาเศรษฐกิจโลกถดถอย สนับสนุนความคืบหน้าของความร่วมมือด้านภาษีระหว่างประเทศ แจงภาครัฐควรใช้นโยบายการคลัง เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยและผู้มีรายได้น้อย ลดผลกระทบ

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในห้วงการประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ประจำปี 2565 ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา ในวันที่ 12 – 13  ตุลาคม 2565 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลาง G20 ประจำปี 2565 ตามคำเชิญของกระทรวงการคลังอินโดนีเซีย ในฐานะประธานการประชุม G20

 

การประชุมครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วย ผู้แทนสหภาพยุโรป ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 8 ประเทศ ได้แก่ สหราชอาณาจักร แคนาดา ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น เยอรมนี สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย และประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่ 11 ประเทศ ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ และตุรกี ทั้งนี้ ขนาดเศรษฐกิจของสมาชิก G20 คิดเป็น 80% ของเศรษฐกิจโลก และมีจำนวนประชากรรวมกันประมาณ 2 ใน 3 ของโลก

การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลาง G20 ในปีนี้ มีหัวข้อหลัก ได้แก่ Recover Together, Recover Stronger ซึ่งมีการหารือถึงประเด็นต่าง ๆ ได้แก่

  1. เศรษฐกิจโลก
  2. สถาปัตยกรรมการเงินระหว่างประเทศ
  3. กฎระเบียบภาคการเงิน
  4. การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน
  5. การเงินที่ยั่งยืน
  6. ภาษีระหว่างประเทศ 

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้แสดงความเห็นต่อที่ประชุมว่า ความท้าทายของเศรษฐกิจโลกปัจจุบัน คือ การปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและพลังงาน รวมถึงภาวะเงินเฟ้อซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ภาครัฐควรใช้นโยบายการคลัง เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยและผู้มีรายได้น้อย บรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งได้แสดงความเห็นสนับสนุนการดำเนินการของ G20 เรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ ซึ่งประเทศไทยได้ให้ความสำคัญในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งสาธารณูปโภค ระบบขนส่งและดิจิทัล 

รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งจะเอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต การเสริมสร้างขีดความสามารถและความเชื่อมโยง รวมถึงการสร้างการพัฒนาที่ทั่วถึงและยั่งยืน โดยในส่วนของแหล่งเงินทุนนั้น ประเทศไทยได้ส่งเสริมการจัดหาเงินทุนเพื่อความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนของรัฐบาล หรือการออกตราสารหนี้ของภาคเอกชน

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้สนับสนุนความคืบหน้าของความร่วมมือด้านภาษีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการดำเนินการภายใต้กรอบ G20/OECD Base Erosion and Profit Shifting (BEPS) และเห็นว่าภาครัฐควรนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี ทั้งนี้ ประเทศสมาชิก G20 ควรสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาในการพัฒนาและปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีต่อไป

 

อนึ่ง ในวันที่ 13 ตุลาคม 2565 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้หารือกับผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงินเอกชน ได้แก่ Mitsubishi UFJ Financial Group และ HSBC เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นและมุมมองเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและนโยบายเศรษฐกิจการเงินของไทย รวมทั้งหารือถึงการลงทุนในโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย โดยผู้บริหารระดับสูงของทั้งสองสถาบันได้แสดงความสนใจและเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก และเชื่อมั่นว่านโยบายของภาครัฐจะเอื้อต่อการลงทุนเพื่อการพัฒนาในระยะยาวต่อไป