ปัจจุบันภาครัฐพยายามเร่งรัดโครงการรถไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อเติมเต็มโครงข่ายระบบขนส่งทางรางในกรุงเทพฯและปริมณฑลให้สมบูรณ์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวกในการเดินทางแก่ผู้ใช้บริการ ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวได้รวบรวมความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าแต่ละสายที่เปิดให้บริการ-การจัดเก็บอัตราค่าโดยสาร รวมทั้งโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยเตรียมพร้อมที่จะเปิดให้บริการได้เร็วๆนี้
ที่ผ่านมามีโครงการรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการแล้ว จำนวน 6 เส้นทาง ประกอบด้วย 1. รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ระยะทาง 48 จำนวน 38 สถานี กิโลเมตร แบ่งเป็น 3 เส้นทาง ช่วงหัวลำโพง - บางซื่อ ระยะทาง 20 กิโลเมตร 18 สถานี ,ช่วงหัวลำโพง - บางแค ระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร 11 สถานี เป็นโครงสร้างทางวิ่งผสมทั้งใต้ดินและยกระดับ ,ช่วงบางซื่อ - ท่าพระ ระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร 9 สถานี เป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับตลอดสาย โดยมีค่าโดยสารอยู่ที่ 17-42 บาท
2.รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-บางใหญ่ ระยะทาง 23 กิโลเมตร มีสถานียกระดับทั้งหมด 16 สถานี ค่าโดยสาร 14-42 บาท หากผู้โดยสารเปลี่ยนระบบระหว่างสายสีน้ำเงินกับสายสีม่วงจะยกเว้นค่าแรกเข้า
3.รถไฟฟ้าสายสีเขียว มีระยะทางรวม 67.45 กิโลเมตร จำนวน 59 สถานี ที่เชื่อมการเดินทางถึง 3 จังหวัด ปทุมธานี กรุงเทพฯ สมุทรปราการ แบ่งเป็น 3 เส้นทาง เส้นทางหลักสายสุขุมวิทช่วงหมอชิต-อ่อนนุชและสายสีลมช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ระยะทาง 23.5 กิโลเมตร ค่าโดยสารเริ่มต้น 16-44 บาท ,ส่วนต่อขยายที่1 ช่วงสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่-บางหว้า และช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง ระยะทางรวม 12.75 กิโลเมตร ค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย และส่วนต่อขยายช่วงที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการและช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ระยะทางรวม 31.20 กิโลเมตร ปัจจุบันยังเปิดให้บริการฟรีทั้ง 2 ช่วง จากเดิมกำหนดเก็บค่าโดยสารของแต่ละช่วงอยู่ที่ 15-45 บาท
4. รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ช่วงพญาไท-สุวรรณภูมิ ระยะทาง 28.70 กิโลเมตร จำนวน 8 สถานี ค่าโดยสารอยู่ที่ 15-45 บาท
5.รถไฟฟ้าสายสีทอง ช่วงกรุงธนบุรี-คลองสาน ระยะทาง 1.88 กิโลเมตร จำนวน 4 สถานี ค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย ทั้งนี้เมื่อเข้าระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสที่กรุงธนบุรีจะเสียค่าแรกเข้าอีก 16 บาท
6.รถไฟชานเมืองสายสีแดง ระยะทางรวม 41 กิโลเมตร แบ่งเป็น 2 เส้นทาง ประกอบด้วย ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26 กิโลเมตร จำนวน 10 สถานี และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 15 กิโลเมตร จำนวน 4 สถานี มีค่าโดยสารอยู่ที่ 12-42 บาท หากเปลี่ยนระบบระหว่างสายสีแดงกับสีม่วงและสีน้ำเงิน จะยกเว้นค่าแรกเข้า
ล่าสุดยังพบว่ามีโครงการรถไฟฟ้าหลายสายที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างและมีแผนที่จะเปิดให้บริการในอนาคต จำนวน 4 เส้นทาง ดังนี้ 1. รถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง ระยะทางทั้งสิ้น 30.4 กิโลเมตร จำนวน 23 สถานี โดยปัจจุบันมีความก้าวหน้างานโยธา 96.96% ความก้าวหน้างานระบบรถไฟฟ้า 96.56% และความก้าวหน้าโดยรวม 96.79%
ทั้งนี้รฟม.มีแผนกำหนดการทดสอบเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) ของรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ภายในเดือน ต.ค.2565 ก่อนจะเปิดประชาชนทดลองใช้บริการฟรี 3 เดือน ระหว่างเดือน ม.ค. – มี.ค.2566 ในระยะแรกช่วงสถานีภาวนา - สถานีสำโรง ก่อนเปิดให้บริการเดินรถอย่างเต็มรูปแบบในปี 2566
2.รถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.50 กิโลเมตร จำนวน 30 สถานี ขณะนี้งานก่อสร้างคืบหน้าแล้ว 92.28% กำหนดค่าโดยสารอยู่ที่ 14-42 บาท ทั้งนี้ตามแผนจะเปิดบริการบางช่วงจากสถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ-มีนบุรีและช่วงสถานีกรมชลประทาน-มีนบุรี ก่อนเปิดตลอดสายในปี 2566
ส่วนรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีชมพู ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี ระยะทาง 3 กิโลเมตร จำนวน 2 สถานี งานก่อสร้างคืบหน้าแล้ว 4.86% มีแผนเปิดบริการในปี 2568 ค่าโดยสารคิดอัตราค่าแรกเข้า 14 บาท หลังจากนั้นคิดค่าโดยสารเพิ่ม 3 บาทต่อสถานี
3.รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ระยะทาง 23.6 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 13.6 กิโลเมตร จำนวน 10 สถานี และทางวิ่งยกระดับ 10 กิโลเมตร จำนวน 7 สถานี ปัจจุบันเอกชนผู้รับเหมาได้เข้าพื้นที่เพื่อเริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้ว โดยมีความก้าวหน้างานโยธาแล้ว 3.42% ตามแผนมีกำหนดเปิดให้บริการในปี 2570 ส่วนอัตราค่าโดยสารอยู่ที่ 14-42 บาท ทั้งนี้จะต้องรอการพิจารณาหาข้อสรุปร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้งก่อนเปิดให้บริการ
4.รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี เป็นสถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี ความก้าวหน้างานโยธา 97.74% กำหนดค่าโดยสารอยู่ที่ 15-45 บาท ตามแผนงานมีกำหนดเปิดให้บริการปี 2568
ส่วนรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย) ล่าสุดหลังจาก รฟม.ได้เปิดประมูลโครงการฯนั้น เบื้องต้นคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้พิจารณาผลการประเมินซองข้อเสนอซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน ผลปรากฏว่า บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) เป็นผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการประเมินสูงสุด
อย่างไรก็ตามหลังจากนี้รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะดำเนินการเชิญผู้ผ่านการประเมินสูงสุดดังกล่าวมาเจรจาต่อรองของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตะวันตก ตามขั้นตอนที่ระบุในเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) และพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 เพื่อดำเนินการก่อสร้างต่อไป โดยจัดเก็บค่าโดยสารอยู่ที่ 15-45 บาท ตามแผนงานมีกำหนดเปิดให้บริการภายในปี2570