นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายเข้าเมืองทองธานี ที่ผ่านมาเริ่มดำเนินการเริ่มก่อสร้างในเดือนมิถุนายน 2561 แต่ยอมรับว่า ที่ผ่านมาโครงการล่าช้า เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ขาดแรงงาน แต่มั่นใจว่าในช่วงต้นปี 2566 โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูจะเปิดให้บริการได้แม้จะเปิดได้บางส่วน แต่สำหรับส่วนต่อขยายเข้าเมืองทองธานี วงเงินประมาณ 4,000 ล้านบาท นั้น คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในช่วงปลายปี 2567-2568
นายคีรี กล่าวอีกว่า โครงการนี้จะเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ที่อยู่อาศัยและผู้ที่ถูกผู้ที่ทำงานอยู่ในเมืองทองธานีกว่า 300,000 คนรวมทั้งผู้ที่เดินทางเข้ามาร่วมงานแสดงสินค้าและการประชุมที่มีมากกว่า 10 ล้านคนต่อปี ให้ได้รับความสะดวกสบายในการใช้บริการรถไฟฟ้าและช่วยแก้ปัญหาจราจรและช่วยแก้ปัญหาจราจร ส่วนกรณีที่มีบางฝ่ายออกมาระบุว่าโครงการนี้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนยืนยันว่าโครงการนี้เอกชนดำเนินการลงทุนทั้งหมดเอง และทำเพื่อประโยชน์ของประชาชน
สำหรับรถไฟฟ้าสายสีชมพูเส้นทางหลัก (แคราย-มีนบุรี) ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร ซึ่งได้เริ่มก่อสร้างเมื่อเดือน มิ.ย. 2561 ปัจจุบันการก่อสร้างล่าช้ากว่าแผนประมาณ 1 ปีเศษ เนื่องจากมีอุปสรรคหลายอย่าง โดยอุปสรรคสำคัญคือ สถานการณ์โควิด ที่ทำให้มีปัญหาด้านแรงงาน โดยขณะนี้การก่อสร้างได้เร่งรัดตามแผนงาน โดยจะมีการทดสอบระบบการเดินรถประมาณ 5 เดือน คาดว่าจะเริ่มทยอยเปิดให้บริการเป็นบางช่วงได้อย่างช้าไม่เกินไตรมาส 1 ปี 2566
ส่วนอัตราค่าโดยสาร รถไฟฟ้าสายสีชมพู นั้น มีกำหนดในสัญญาร่วมลงทุนฯ กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งการลงทุนรถไฟฟ้านั้นไม่สามารถคุ้มค่าได้จากการเก็บค่าโดยสาร ในขณะที่การกำหนดอัตราค่าโดยสารเท่าไรนั้นจะต้องคำนึงถึงผู้โดยสารด้วย ซึ่งการที่บีทีเอสลงทุนรถไฟฟ้าเพื่อให้เกิดเป็นโครงข่ายที่จะสร้างรายได้จากธุรกิจอื่นๆ เช่น กรณีเชื่อมเข้าเมืองทองธานี ก็เพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มในพื้นที่ นอกเหนือจากรายได้ค่าโดยสาร ทั้งนี้ ยอมรับว่าความล่าช้ากว่า 1 ปีที่ผ่านมานั้น ทำให้มีต้นทุนเพิ่มแต่เมื่อเทียบกับมูลค่าโครงการถือว่าไม่มาก บริษัทมีศักยภาพในการบริหารจัดการ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นผลกระทบจากโควิด ไม่ได้เกิดจากความผิดใดๆ เชื่อว่ารัฐบาลน่าจะมีมาตรการเยียวยาให้เอกชนในด้านของผลกระทบจากโควิด ซึ่งหากถึงเวลาบริษัทจะทำเรื่องเสนอขออนุเคราะห์จาก รฟม.หรือกระทรวงคมนาคมต่อไป
“เส้นทางสายสีชมพูสามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ได้ที่สถานีวัดพระศรีฯ เชื่อมต่อสายสีม่วงที่สถานีแคราย เชื่อมต่อสายสีส้มที่สถานีมีนบุรี และเชื่อมต่อสายสีเทาที่สถานีวัชรพล จึงเป็นโครงข่ายที่ส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบรางที่เชื่อมต่อกับในเมืองและนอกเมืองได้”
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการ และผู้อำนวยการใหญ่สายธุรกิจ MOVE บริษัท บีทีเอส กรุ๊ปฯ กล่าวว่า การเปิดให้บริการโมโนเรลสายสีชมพูจะแบ่งเป็น 3 ระยะ ครบตลอดสายในปี 2566 โดยเริ่มต้นปีจะเปิดให้บริการช่วงแรกจากสถานีมีนบุรี-สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ช่วงกลางปี 2566 เปิดช่วงที่ 2 จากสถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ-สถานีกรมชลประทาน และปลายปีเปิดช่วงที่ 3 จากสถานีกรมชลประทาน-สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี สำหรับส่วนต่อขยายเข้าเมืองทองธานีนั้นจะเปิดในปี 2567-2568 คาดว่าจะมีผู้โดยสารประมาณ 200,000 คน/วัน
ทั้งนี้รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีชมพู ช่วงศรีรัช-เมืองทองธานี จะใช้ระยะเวลาการก่อสร้างประมาณ 37 เดือน คาดว่าจะแล้วเสร็จ เปิดให้บริการในปี 2568 จะมีปริมาณผู้โดยสารอยู่ที่ 13,785 คน/เที่ยว/วัน ส่วนภาพรวมโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี จำนวน 30 สถานี (ไม่รวมสถานีอิมแพ็ค เมืองทองธานี และสถานีทะเลสาบเมืองทองธานี) มีความคืบหน้าโครงการ 89.43% แบ่งเป็นงานโยธา 91.01% และงานระบบรถไฟฟ้า 87.90% คาดว่าจะเปิดให้บริการได้บางส่วนช่วงต้นปี 2566
สำหรับรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีชมพู ช่วงศรีรัช-เมืองทองธานี มีทั้งหมด 3 สถานี ประกอบด้วย 1.สถานีศรีรัช 2. สถานีอิมแพค ชาเลนเจอร์ 3. สถานีทะเลสาบเมืองทองธานี โดยมีแนวเส้นทางส่วนต่อขยายมีจุดเริ่มต้นบนถนนแจ้งวัฒนะ เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู สายหลัก ที่สถานีศรีรัช ก่อนเลี้ยวขวาวิ่งเข้าสู่พื้นที่เมืองทองธานี ไปตามถนนแจ้งวัฒนะ – ปากเกร็ด 39 ขนานกับทางพิเศษอุดรรัถยา ผ่านวงเวียนเมืองทองธานี (สถานี MT–01) และวิ่งต่อเนื่องไปยังจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณทะเลสาบเมืองทองธานี (สถานี MT–02) รวมระยะทาง 2.8 กิโลเมตร มีรูปแบบเป็นทางยกระดับทั้งหมด
นายปีเตอร์ กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือบีแลนด์ กล่าวว่า สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายที่เข้ามาในเมืองทองธานี นั้น จะช่วยส่งเสริมธุรกิจต่างๆ ในเมืองทองธานี อาทิ ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค โรงแรม คอสโม บาซาร์ คอสโม วอล์คและ คอสโม ออฟฟิศ พาร์ค ให้มีการเติบโตมากขึ้นอีก 10-20% นอกจากนี้ ยังจะเพิ่มศักยภาพและเพิ่มมูลค่าที่ดินเปล่าในเมืองทองธานีที่มีอยู่อีก 600 ไร่ โดยจะมีมูลค่าเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งเราได้วางแผนไว้ว่าจะพัฒนาให้เป็นโครงการ มิกซ์ยูส เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้คนรุ่นใหม่เป็นอย่างดี
นายปีเตอร์ กล่าวอีกว่า ทั้ง 2 สถานีดังกล่าว จะเป็นเส้นทางส่วนต่อขยายเข้ามาในเมืองทองธานีจนถึงทะเลสาบเมืองทองธานีรวมเป็นระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร ทั้งนี้ บริษัทได้ลงทุนการก่อสร้างสกายวอล์ค วงเงิน 1,000 ล้านบาท เพื่อเชื่อมต่อจากโครงการฯ ไปยังศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค, โรงแรม, ร้านค้าปลีก และห้างสรรพสินค้าต่างๆ เพื่อรองรับการเติบโตและมอบความสะดวกสบายให้แก่ผู้ที่มาใช้บริการอย่างสูงสุด
อย่างไรก็ตามการลงนามในครั้งนี้ระหว่างเอ็นบีเอ็มและบีแลนด์ เป็นการลงนามในสัญญา 2 ฉบับ แบ่งเป็น 1.สัญญาให้การสนับสนุนการก่อสร้าง โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยายเข้าเมืองทองธานี และ 2.สัญญาก่อสร้างทางเชื่อม จากโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายเข้ามายังตัวอาคารของเมืองทองธานี โดยภายใต้สัญญาดังกล่าว ทางบีแลนด์ ได้อนุมัติเงินสมทบและค่าสิทธิ์ให้กับ เอ็นบีเอ็ม ประมาณ 1,293.75 ล้านบาท (ซึ่งอยู่ในวงเงิน 4 พันล้านบาท ของโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีชมพู และยังได้อนุมัติเงินสมทบเพื่อสนับสนุนการบำรุงรักษาจำนวน 10.35 ล้านบาทต่อปี นับจากวันที่ส่วนต่อขยายเมืองทองธานีเปิดให้บริการ