เศรษฐกิจ-สังคม ภาคใต้ฟื้น  จี้ลดค่าครองชีพ หนี้ครัวเรือน

21 ต.ค. 2565 | 03:30 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ต.ค. 2565 | 10:38 น.

ม.หาดใหญ่เผยดัชนีความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจและสังคมชาวใต้เดือนก.ย. เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเดือนที่ 3 จากแรงส่งด้านการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน แต่ยังเปราะบาง จี้รัฐเร่งแก้ปัญหาค่าครองชีพ-หนี้สินประชาชน-เพิ่มกำลังซื้อผู้ที่มีรายได้น้อย อีดฉีดการท่องเที่ยว

ผศ.ดร.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคมเดือนกันยายน 2565 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวมเดือนกันยายน 2565 อยู่ที่ระดับ 42.60 ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนส.ค. 2565 ที่ 42.30  และก.ค. 2565 ที่ระดับ 41.80

 

จากปัจจัยบวกที่สำคัญ ได้แก่ แนวโน้มการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาพรวมเศรษฐกิจ ตามแรงส่งของภาคท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ โดยภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ดีขึ้นตามลำดับ สังเกตจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2565 มีโอกาสถึง 10 ล้านคน อีกทั้งการขยายเวลาวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวเป็น 45 วัน ทำให้เกิดการใช้จ่ายในภาคการท่องเที่ยวและบริการเพิ่มมากขึ้น 

เศรษฐกิจ-สังคม ภาคใต้ฟื้น  จี้ลดค่าครองชีพ หนี้ครัวเรือน

นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 มอบเงินไม่เกิน 800 บาทต่อคน เพื่อช่วยลดค่าครองชีพของประชาชน แม้ว่าจะเป็นจำนวนเงินที่ไม่มากนัก แต่ก็สามารถช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ให้สามารถมีเงินใช้จ่ายในชีวิต ประจำวันได้ และช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจฐานราก ให้มีเงินหมุนเวียนในระบบอย่างทั่วถึง และกระจายไปในหลากหลายธุรกิจ

 

อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจของไทยยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากหลายปัจจัย ซึ่งกลุ่มตัวอย่างหลากหลายอาชีพ ให้ความคิดเห็นและเสนอแนวทางแก้ไขต่างๆ  ดังนี้      

1. ภาวะค่าเงินบาทอ่อนตัวถึง 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มากที่สุดในรอบ 16 ปี สร้างความกังวลต่อประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจ เกรงจะส่งผลดันเงินเฟ้อเพิ่มมากยิ่งขึ้นที่สำคัญคือ ประชาชนที่มีหนี้สินอาจต้องรับภาระดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยควรกำหนดมาตรการด้านการเงินที่เหมาะสม และทำอย่างรวดเร็ว ฉับไว ก่อนที่ปัญหาต่างๆ จะลุกลามบานปลายไปมากกว่านี้

 

2. ประชาชนมีความกังวลกับราคาสินค้าและบริการมีราคาสูงขึ้น ค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ครัวเรือนส่วนมากยังมองว่าค่าใช้จ่ายโดยรวมสูงขึ้น ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น และภาวะเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้น ในขณะที่รายได้เท่าเดิมหรือลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป

 

โดยในช่วงที่สถานการณ์ค่าครองชีพสูง ประชาชนส่วนหนึ่งยังต้องการให้ภาครัฐ ออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนเพื่อลดค่าครองชีพ โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้สามารถดำรงชีพได้อย่างไม่ฝืดเคืองมากนัก

 

3. จากคำพิพากษาให้พลเอกประยุทธ์ ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีต่อไป ประชาชนส่วนหนึ่งกังวล เกี่ยวกับสถานการณ์การชุมนุม เพราะอาจมีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวที่กำลังจะฟื้นตัว ทั้งนี้ ภาครัฐควรมีแผนดำเนินการกับสถานการณ์การชุมนุมที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ลุกลามบานปลายจนไม่สามารถควบคุมได้

 

4. ประชาชนส่วนหนึ่งต้องการให้พลเอกประยุทธ์ ใช้เวลาที่เหลือในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน และทำเพื่อประโยชน์ของชาติและของประชาชนอย่างแท้จริง

 

ในขณะที่ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่า ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงาน จะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 35.60 และ 35.30 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยวในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 36.80 และ 34.70 ตามลำดับ

 

ส่วนความเชื่อมั่นด้านความสุขในการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 30.50  32.80 และ 39.70 ตามลำดับ

 

ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่า รัฐบาลควรรีบดำเนินการและให้ความช่วยเหลือ อันดับแรก คือ การแก้ปัญหาค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น รองลงมา คือ การแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชน และการเพิ่มรายได้ให้กับผู้ที่มีรายได้น้อย รวมถึงมีมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว ตลอดจนมาตรการกระตุ้นให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 

 

สมชาย สามารถ/รายงาน
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,828 วันที่ 20-22  ตุลาคม พ.ศ.2565