การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) แม้ปัจจุบันจะได้ตัวเอกชนผู้ชนะประมูลเรียบร้อยแล้ว เหลือขั้นตอนการนำผลการประมูลเข้าสู่การพิจารณาคณะกรรมการรฟม.กระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี (ครม.)ขอความเห็นชอบตามลำดับเพื่อลงนามในสัญญา
ในทางกลับกันหลายฝ่ายยังคาใจปมส่วนต่าง 6.8 หมื่นล้านบาทที่อาจทำให้รัฐเสียประโยชน์ กับข้อเสนอขอรับสนับสนุนค่าก่อสร้างจากรัฐเมื่อบริษัทระบบขนส่งมวลกรุงเทพจำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ที่ 9,600 ล้านบาท (ประมูลรอบแรก) กับผู้ชนะประมูลรอบสองที่ 78,287.95 ล้านบาทสะท้อนตัวเลขการขอรับสนับจากรัฐเต็มอัตรา และอาจไม่ได้มีการแบ่งผลประโยชน์ค่าตอบแทนเป็นรายปีเหมือนกับบีทีเอส
อย่างไรก็ตามแม้รฟม.จะปฏิเสธการประมูลรอบแรกกับรอบที่สองต่างกรรมต่างวาระไม่มีความเชื่อมโยงกันก็ตาม แต่ ต้องคำนึงถึงคำสั่งศาลปกครองกลางที่เคยมีคำสั่งทุเลาการใช้เกณฑ์การประมูลใหม่ ในคราวประมูลรอบแรก ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่ง ไม่ควรนำมาใช้ในการประมูลรอบที่สอง
ที่สำคัญการล้มประมูลและเปิดประมูลใหม่ โดยไม่รอคำชี้ขาดให้ถึงที่สุดของศาลปกครองตามที่ BTSC เป็นโจทก์ยื่นฟ้องยิ่งเป็นเรื่องที่น่ากังขาสำหรับการพิจารณาของรฟม.และ คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562
ซ้ำร้ายกว่านั้น การประมูลรอบที่สองกลับกำหนดสเปกเข้มข้นกว่าเดิม ในลักษณะกีดกันการแข่งขันโดยเฉพาะ เงื่อนไขผู้รับเหมา ต้องเฉพาะเจาะจงในประเทศขณะ ผู้รับสัมปทานเดินรถเปิดกว้างให้ต่างชาติสามารถร่วมวงประมูลได้
ราคากลางสูงเกินจริง?
ต่อเรื่องนี้ นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC กล่าวว่าปมส่วนต่าง 6.8หมื่นล้านบาท กรณี บริษัท แบ่งรายได้และหักขอการสนับสนุนรัฐเป็นค่าก่อสร้าง 9,600 ล้านบาท (รอบแรก)สามารถปฏิบัติได้จริงขณะผู้ชนะประมูลรอบที่สอง รอรับสนันสนุนที่ 78,287.95 ล้านบาท
อีกทั้งค่าก่อสร้าง บีทีเอสเสนอต่ำกว่าราคากลาง ที่ 79,000 ล้านบาท รวมดอกเบี้ย ขณะราคากลาง อยู่ที่ 96,000ล้านบาท ตั้งข้อสังเกตว่าราคากลางรัฐประเมินไว้สูงเกินจริงหรือไม่ ส่วนของผู้ชนะประมูลรอบที่สองไม่ทราบแน่ชัดเนื่องจากไม่มีการเปิดเผย มองว่าควรนับย้อนไปถึงการประมูลรอบแรกหรือปี 2563 เนื่องจาก คำสั่งศาลในการประมูลรอบแรก ล้วนเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกันในการประมูลครั้งที่สอง
ชงครม.เบรกสายสีส้มโมฆะ
สอดคล้องกับ พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษาประธานกรรมการบมจ.บีทีเอสกรุ๊ปโฮลดิ้งส์ (BTS) กล่าวว่าจากปมปัญหาที่เกิดขึ้นบริษัทได้ยื่นหนังสือถึงเลขาคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาปม 6.8 หมื่นล้านบาท อาจเป็นสาเหตุทำให้รัฐเสียประโยชน์ครั้งสำคัญ
โดยมีข้อความที่ระบุว่า ขอคัดค้านและไม่ให้ความเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตามการประกาศเชิญชวน และเอกสารคัดเลือกเอกชนฉบับเดือนพฤษภาคม2565
นอกจากนี้ต้องการให้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) หนึ่งในผู้แทนคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 ควรเสนอเรื่องการประมูลส่วนต่าง ดังกล่าวต่อคณะกรรมการ PPP เพราะมองว่าอาจมีเจตนากระทำผิดขัดวัตถุประสงค์ PPP โดยเฉพาะบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือITD
หนึ่งในกรรมการบริษัทต้องคดี ต้องโทษจองจำซึ่งศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วแต่ ปรากฏว่า ยังผ่านคุณสมบัติและเปิดซองต่อเนื่อง แม้จะมีผู้แทนจากสคร.คัดค้านแล้วก็ตามโดยตั้งข้อสังเกตว่าการให้ITD ผ่านกระบวนการเปิดซองไปก่อนเพราะต้องการให้เกิดคู่เทียบหรือคู่แข่งขัน เท่านั้น
ร้องศาลปกครอง
นอกจากนี้ยังทำเรื่องร้องไปที่ศาลปกครองกลางเพื่อขอพิจารณาในประเด็นส่วนต่างและขอยึดคำสั่งศาลประมูลครั้งแรก มาเป็นบรรทัดฐาน ในกรณีดังกล่าว ทั้งก่อนหน้านี้ได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ฐานะกำกับดูแลหน่วยงานรฟม.
ต้องพิจารณาดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายและหากทราบว่าโครงการดังกล่าวมีการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายฮั้วประมูลต้องมีคำสั่งยกเลิก มิเช่นนั้นตัวรัฐมนตรีเองจะมีความผิดตามที่กฎหมายกำหนดซึ่งอัตราโทษที่กำหนดไว้ สูงถึง 10 ปี
ต่อข้อถามที่ว่าจะสามารถยื้อการลงนามในสัญญาได้หรือไม่ พ.ต.อ.สุชาติกล่าวต่อว่า บริษัทดำเนินการตามขั้นตอนให้ถึงที่สุดตามข้อเท็จจริงและครม.คือขั้นตอนสุดท้ายว่าจะเห็นชอบหรือไม่ซึ่งการลงนามในสัญญาต้องขอมติครม.ถือเป็นที่สุด