“องค์กรต้านโกง” วอนภาครัฐ สอบประมูลสายสีส้ม หวั่นเสียค่าโง่ 6.8 หมื่นล้าน

04 ต.ค. 2565 | 09:47 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ต.ค. 2565 | 16:53 น.

“องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน” วอนภาครัฐ ตรวจสอบประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม หวั่นเสียค่าโง่ 6.8 หมื่นล้านบาท ห่วงซ้ำรอยแอร์พอร์ตลิงก์-โฮปเวลล์ กระทบแผนล่าช้ากว่า 2 ปี

รายงานข่าวจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวถึง กรณีสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่มีปัญหาการประมูลล่าช้ามากว่าสองปี ล่าสุดได้ปรากฏเงื่อนงำ ต่อสาธารณชนอีกว่า ราคาของผู้ชนะการประมูลเป็นราคาที่ทำให้รัฐต้องเสียประโยชน์ไปมากถึง 6.8 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับข้อเสนอของเอกชนรายอื่น  ทางองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ มีความเชื่อว่าทุกวันนี้คนไทยเบื่อหน่ายกับการเสียค่าโง่ และต้องทนเดือดร้อนจากโครงการด้านสาธารณูปโภคของรัฐ ซ้ำแล้วซ้ำอีก 

 

 

 

โดยเฉพาะโครงการเกี่ยวกับระบบขนส่งมวลชน เช่น โครงการแอร์พอร์ตลิงก์ มูลค่า 3.3 หมื่นล้านบาท มีปัญหาไม่โปร่งใสตั้งแต่ต้นจนขาดทุนต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้โดยสารเดือดร้อนจากบริการที่ด้อยคุณภาพ ขบวนรถเสียบ่อยขาดความต่อเนื่อง โครงการโฮปเวลล์ มูลค่า 8 หมื่นล้านบาท ที่สุดท้ายล้มเลิกไป แต่รัฐถูกฟ้องร้องเรียกค่าโง่ 2.8 หมื่นล้านบาทที่เป็นเงินภาษีประชาชน รถไฟฟ้าสายสีเขียวที่การบริหารโครงการตกอยู่ในมือเอกชนต่อเนื่อง แต่ไม่รู้ว่าใครไปแอบทำอะไรกัน กทม. กลับเป็นหนี้ต้องชดใช้เอกชนมากถึง 1.2 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้เพื่อหยุดวงจรของการโกง ไม่ปล่อยให้ประเทศไทยถูกเอาเปรียบ เสียค่าโง่ไปจนถึงลูกหลาน และสุดท้ายประชาชนคือผู้รับกรรมจากการโกง องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ จึงขอแถลงการณ์ในกรณีรถไฟสายสีส้ม ดังนี้ 

 

“องค์กรต้านโกง” วอนภาครัฐ สอบประมูลสายสีส้ม หวั่นเสียค่าโง่ 6.8 หมื่นล้าน

 

1. ขอเรียกร้องนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล สั่งให้มีการตรวจสอบว่า ผลประโยชน์ของรัฐที่เอกชนเสนอแตกต่างกันมากถึง 6.8 หมื่นล้านบาทนี้ เป็นเรื่องสมเหตุสมผลหรือไม่ โดยเปิดให้องค์กรวิชาชีพ ที่สังคมเชื่อมั่น เข้ามีส่วนร่วมตรวจสอบด้วย เช่น สภาวิศวกรฯ สภาวิศวกรที่ปรึกษาฯ แล้วเปิดเผยให้ประชาชนทราบโดยเร่งด่วน

 

 

2.ขอให้คนไทยทุกภาคส่วนได้ร่วมกันกดดันให้ผู้นำรัฐบาล ผู้นำทางการเมืองและหน่วยงานของรัฐ และบุคคลในคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) คณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี.) กระทรวงคมนาคม คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และผู้นำของทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องรถไฟสายสีส้มที่กำลังฉาวโฉ่ ต้องแสดงความรับผิดชอบ ต้องทำงานเป็นตัวแทนประชาชนในรักษาผลประโยชน์ของประชาชน ให้สมกับตำแหน่งที่ความไว้วางใจที่ได้รับเลือกมา

อย่างไรก็ตาม 2 ข้อเสนอนี้ จะช่วยให้ประชาชนไม่ต้องรับกรรมซ้ำซากจากการทุจริตคดโกง ช่วยให้ประเทศไทย ผุดจากหลุมพรางของการโกงชาติ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเสียงของประชาชนจะได้รับการตอบสนอง ไม่ต้องให้ประชาชนหมดหวังกับผู้นำ จนต้องลุกมาสู้โกงด้วยตนเอง