เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนกันยายน 2565 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยวในทุกภูมิภาค นอกจากนี้ ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น ในขณะเดียวกัน ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมก็ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องในเกือบทุกภูมิภาค
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง พร้อมด้วยนายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง และนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการกองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เปิดเผย ภาวะเศรษฐกิจภูมิภาค ประจำเดือนกันยายน 2565 ว่า เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนกันยายน 2565 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยวในทุกภูมิภาค
นอกจากนี้ ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น ในขณะเดียวกัน ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมก็ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องในเกือบทุกภูมิภาค โดยมีรายละเอียดดังนี้
เศรษฐกิจภาคใต้ในเดือนกันยายน 2565 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน การท่องเที่ยว รวมทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคและความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น
ด้านอุปสงค์ พบว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัว 17.0 %ต่อปี จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ขยายตัว 27.4 %ต่อปี แต่ชะลอตัว -11.4 % เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล เช่นเดียวกันกับจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัว 41.9 %ต่อปี แต่ชะลอตัว -1.1 % เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล รายได้เกษตรกรชะลอตัว
อย่างไรก็ตามดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 40.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ระดับ 39.8
เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ขยายตัว 20.8 %ต่อปี แต่ชะลอตัว-7.5% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ชะลอตัว อย่างไรก็ตามเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการมูลค่า 2,733.53 ล้านบาท ขยายตัว 497.8 %ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในโรงงานผลิตถุงมือยางทางการแพทย์ด้วยเงินทุน 2,543.23 ล้านบาท ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นสำคัญ
เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 88.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ86.2 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนขยายตัว 1,424.0 % ต่อปี และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัว 808.2 % ต่อปี