วันที่ 31 ตุลาคม 2565 ที่ห้องแกรนด์วิว 3 โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว จังหวัดเชียงใหม่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชน ต่อผลการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบการดำเนินงานโครงการที่เหมาะสม สำหรับโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์ - แยกแม่เหียะสมานสามัคคี)
มีนายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธีเปิด โดยมีผู้นำชุมชน ประชาชนในพื้นที่ ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรอิสระ สถาบันการศึกษา และผู้สนใจ รวมถึงสื่อมวลชน เข้าร่วมการประชุมกว่า 200 คน
นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า เชียงใหม่เป็นเมืองที่มีทั้งคนเชียงใหม่อยู่กันอย่างหนาแน่น และมีนักท่องเที่ยวมาเยือนเป็นจำนวนมาก เป็น Best Destination ของนักท่องเที่ยวทั่วโลก จึงจำเป็นต้องมีระบบขนส่งมวลชนที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย เป็นที่มั่นใจของผู้มาเยือน
โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงของเชียงใหม่ ที่รฟม.ศึกษามาเป็นทางเลือกที่เป็นประโยชน์ โดยขั้นตอนนี้เป็นหนึ่งในเรื่องของการรับฟังความคิดเห็น เพื่อให้เกิดความเห็นพ้องต้องกัน ในการจะเลือกวิธีและรูปแบบในการก่อสร้างให้เป็นที่ยอมรับและเกิดประโยชน์สุงสุดต่อจังหวัดเชียงใหม่ และประเทศชาติโดยรวม
การประชุมครั้งนี้มีความเห็นที่หลากหลาย เป็นเสน่ห์ของการรับฟังความคิดเห็นในระบอบประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ขอให้แสดงความคิดเห็นที่ตรงไปตรงมา รฟม.ก็จะบอกข้อเท็จจริงในแต่ละระบบ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน บนพื้นฐานของประชาชนได้ประโยชน์ เมืองได้ประโยชน์อะไร และสุดท้ายก็คือความเป็นไปได้ที่เราจะเลือกรูปแบบใด ๆ ในการก่อสร้าง ให้เกิดขึ้นได้จริงในเวลาที่ไม่นานเกินไป ที่เหมาะสมและมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจให้ยั่งยืนไปในระยะ
โครงการนี้เมื่อสร้างเสร็จสามารถตอบสนองต่อกำลังซื้อ และความต้องการของผู้มาเยือนได้อย่างดี ก็จะทำให้เราพัฒนาไปได้ถูกทิศทาง สามารถรองรับนักท่องเที่ยว ซึ่งจะนำรายได้เพิ่มอีกมากเข้ามาสู่จังหวัดเชียงใหม่ในอนาคต หวังว่าจะได้ให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ที่เป็นประโยชน์แก่คณะผู้ศึกษาอย่างเต็มที่
ด้านนายสาโรจน์ ต.สุวรรณ รองผู้ว่าการ (กลยุทธ์และแผน) รฟม. เปิดเผยว่า การประชุมในครั้งนี้เป็นผล สืบเนื่องจากผลการศึกษาวิเคราะห์รูปแบบการลงทุนที่ผ่านมา ซึ่งโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดงฯ ที่มีแนวเส้นทางรูปแบบผสมระหว่างใต้ดินและระดับดินนั้นมีมูลค่าการลงทุนสูง ส่งผลให้รายได้จากการเดินรถไม่เพียงพอต่อค่าเดินรถและบำรุงรักษา
ประกอบกับกระทรวงคมนาคมได้มอบนโยบายให้ รฟม. ศึกษา และพิจารณาแนวทางการใช้รถไฟฟ้าล้อยาง ในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนหลักในภูมิภาค รฟม. จึงได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติมของสัญญาจ้างกลุ่มที่ปรึกษา CMTR ให้ดำเนินการศึกษาเปรียบเทียบ รูปแบบการดำเนินงานโครงการที่เหมาะสมสำหรับโครงการฯ
การประชุมในวันนี้จัดขึ้นเพื่อนำเสนอผลการศึกษา รูปแบบการดำเนินงานโครงการที่เหมาะสม จำนวน 3 รูปแบบ ประกอบด้วย 1) รูปแบบระบบรถไฟฟ้าล้อเหล็ก (Steel Wheel Tram) แนวเส้นทางผสมใต้ดิน และระดับดิน วิ่งบนรางในเขตทางเฉพาะตลอดสาย 2) รูปแบบระบบรถไฟฟ้าล้อเหล็ก (Steel Wheel Tram) ระดับดินตลอดแนวเส้นทาง และ 3) รูปแบบระบบรถไฟฟ้าล้อยาง (Tire Tram) ระดับดินตลอดแนวเส้นทาง
โดยเปรียบเทียบทั้ง 3 รูปแบบอย่างรอบด้าน ทั้งในด้านวิศวกรรมและจราจร (ความน่าเชื่อถือของเทคโนโลยี ความเหมาะสมทางกายภาพของระบบ ต่อสภาพพื้นที่ของเขตเมืองเชียงใหม่ ศักยภาพในการรองรับปริมาณผู้โดยสาร ระยะเวลาในการก่อสร้าง) ด้านการลงทุนและผลตอบแทน (ค่าลงทุน ค่าบำรุงรักษาและดำเนินการ ค่าเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รายได้ค่าโดยสารและรายได้อื่นของโครงการ) และด้านสิ่งแวดล้อม (ผลกระทบ สิ่งแวดล้อมในระยะก่อสร้าง ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระยะดำเนินการ)
ผลการศึกษาพบว่า รูปแบบที่มีความเหมาะสมมากที่สุด ในการพัฒนาโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดงฯ คือ ระบบรถไฟฟ้าล้อยาง ที่มีรูปแบบทางวิ่งระดับดินตลอดแนวเส้นทาง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนโครงการ บรรเทาผลกระทบด้านการเวนคืนที่ดิน และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากโครงการในระยะก่อสร้าง รวมถึงใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม น้อยกว่ารถไฟฟ้าระบบอื่น ๆ เพื่อให้สามารถอำนวยความสะดวก และปลอดภัยให้แก่ชาวเชียงใหม่ รวมทั้งนักท่องเที่ยวที่มาเยือนเชียงใหม่ได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ รฟม. และกลุ่มที่ปรึกษา CMTR จะนำความคิดเห็น ต่อผลการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบการดำเนินงานดังกล่าว พร้อมข้อเสนอแนะต่าง ๆ จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในวันนี้ ไปพิจารณาปรับปรุงผลการศึกษา ให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ ประกอบการรายงานผลต่อกระทรวงคมนาคมพิจารณาในลำดับต่อไป
โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์ - แยกแม่เหียะสมานสามัคคี) เป็นโครงการระบบขนส่งสาธารณะหลักของจังหวัดเชียงใหม่ ที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) มีข้อเสนอแนะให้เริ่มก่อสร้างก่อนเป็นลำดับแรก โครงการฯ มีระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร มีสถานีรับ-ส่ง ผู้โดยสาร 16 สถานี ได้แก่
สถานีโรงพยาบาลนครพิงค์ สถานีศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ สถานีสนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี สถานีศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ สถานีแยกหนองฮ่อ สถานีโพธาราม สถานีข่วงสิงห์ สถานีมหาวิทยาลัย ราชภัฏเชียงใหม่ สถานีขนส่งช้างเผือก สถานีมณีนพรัตน์สถานีประตูสวนดอก สถานีแยกหายยา สถานีแยกท่าอากาศ ยานนานาชาติเชียงใหม่ สถานีท่าอากาศยานเชียงใหม่ สถานีบ้านใหม่สามัคคี และสถานีแม่เหียะสมานสามัคคี โดยมี ศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง บริเวณพื้นที่ว่างใกล้สถานีแยกหนองฮ่อ
การนำเสนอผลการศึกษารูปแบบการดำเนินงานโครงการที่เหมาะสมจำนวน 3 รูปแบบ วันนี้ทุกระบบสามารถนำมาใช้ได้หมด และเป็นระบบที่รองรับความต้องการการเดินทางได้เหมือนกันหมด เพียงแต่ว่าในแต่ละระบบมีลักษณะแตกต่างกัน เช่น เรื่องของล้อเป็นยางหรือล้อเป็นเหล็ก ระยะเวลาก่อสร้าง ถ้าเป็นใต้ดินการก่อสร้างจะยาวนานกว่าประมาณ 3-5 ปี ถ้าเป็นระบบบนดินการก่อสร้างจะเร็วกว่า ไม่เกิน 3 ปีก็แล้วเสร็จ
รูปแบบการลงทุนจะเป็นลักษณะการให้สัมปทานเอกชน เพราะฉะนั้นตอนนี้ก็อยู่ระหว่างศึกษา ว่าในส่วนของรูปแบบรายละเอียด ว่าจะให้เอกชนลงทุนในส่วนใดบ้าง หรือว่ารัฐมีความจำเป็นต้องให้การสนับสนุนเพิ่มเติมอย่างไรบ้าง
ส่วนเรื่องค่าโดยสารที่รฟม.ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง โดยต้องพิจารณาถึงองค์รวมของจังหวัดเชียงใหม่ ประชาชนมีกำลังที่จะสามารถจ่ายการขึ้นรถไฟฟ้าได้ระดับเท่าไหร่ จึงขอให้มั่นใจได้ว่า ราคาโดยสารจะไม่สูงเกินไป น่าจะเป็นที่รับได้
ทั้งนี้ รูปแบบการคิดอัตราค่าโดยสาร สำหรับระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์ -แยกแม่เหียะสมานสามัคคี) สามารถจำแนกได้เป็น 3 รูปแบบ
รูปแบบที่ 1 : การคิดอัตราค่าโดยสารตามระยะทาง ( Distance-based Fare) โดยคิดตามระยะทางเดินทางจริง (เดินทางใกล้จ่ายน้อย เดินทางไกลจ่ายมาก) ซึ่งมีราคาเริ่มต้น เท่ากับ 14 บาท และราคาสูงสุด เท่ากับ 30 บาท
รูปแบบที่ 2 : การคิดอัตราค่าโดยสารตามระยะทาง ( Distance-based Fare) โดยคิดตามจำนวนสถานีแบบขั้นบันได เช่น (ก) 0-8 สถานี 15 บาท (ข) 9-16 สถานี 20 บาท
รูปแบบที่ 3 : การคิดแบบอัตราเดียว (Flat Fare) 20 บาท ตลอดสาย
ส่วนมูลค่าการก่อสร้าง เดิมทีถ้าเป็นระบบใต้ดินส่วนหนึ่ง และบนดินส่วนหนึ่ง มูลค่าก่อสร้างเกือบ 30,000 ล้านบาท แต่ถ้าเป็นระดับที่อยู่บนดินทั้งหมด ก็จะลดเหลือไม่ถึง 10,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในการรับฟังความคิดเห็นและเสนอแนะ ไม่มีกรอบเวลาที่ว่าจะต้องทำให้เสร็จเมื่อไหร่ แต่รฟม.พยายามทำให้เร็วที่สุด เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะช่วยเพิ่มทางเลือก ในการเดินทางที่มีประสิทธิภาพ และมาตรฐาน รวมถึงมีความสะดวก รวดเร็ว และความปลอดภัย ให้แก่ประชาชน และนักท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งยังสามารถลดการใช้รถยนต์โดยรวมบนท้องถนน ช่วยลดปริมาณมลพิษในอากาศ ที่เกิดจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของรถยนต์ได้อีกด้วย