ผลประชุมครม.อนุมัติให้คมนาคมผุดรถไฟฟ้าเชียงใหม่-ภูเก็ต-พังงา

11 ก.ย. 2561 | 08:57 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ก.ย. 2561 | 15:57 น.
ผลประชุมครม.อนุมัติให้คมนาคมผุดรถไฟฟ้าเชียงใหม่-ภูเก็ต-พังงา

นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม และโฆษกกระทรวงฯ กล่าวว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 11 กันยายน 2561 มีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงฯ ดังนี้

1. ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา ให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดพังงา และจังหวัดภูเก็ต พ.ศ. .... จำนวน 2 โครงการ ดังนี้

1.1 โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่ง และจราจร (สนข.) ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเชียงใหม่ และได้นำเสนอผลการศึกษาตามรายงานฉบับสมบูรณ์ต่อคณะกรรมการกำกับการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2560 สาระสำคัญโดยสรุปคือ ระบบหลักเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit) ซึ่งเป็นโครงการตามมาตรการ PPP Fast Track

govhouse-10

1.2 ระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต สนข. ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาและออกแบบทางรถไฟสายใหม่เพื่อการท่องเที่ยว เส้นทางจังหวัดสุราษฎร์ธานี - พังงา - ภูเก็ต ซึ่งได้ข้อสรุปในส่วนของระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit หรือ Tramway) มีแนวเส้นทางเริ่มต้นจากบริเวณสถานีรถไฟท่านุ่น จังหวัดพังงา ผ่านท่าอากาศยานภูเก็ตและสิ้นสุดที่บริเวณห้าแยกฉลอง จังหวัดภูเก็ต ระยะทาง 58.5 กิโลเมตร ซึ่งได้บรรจุไว้ในโครงการตามมาตรา PPP Fast Track ทั้งนี้ รฟม. ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องระหว่างวันที่ 22 มกราคม - 16 กุมภาพันธ์ 2561 ซึ่งโดยรวมเห็นด้วยกับการดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนระบบราง และให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เร่งดำเนินโครงการฯ

2. คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ หลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืน จำนวน 3 ฉบับ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

2.1 ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลบ้านสวนและตำบลหนองข้างคอก อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี พ.ศ. .... เพื่อสร้างทางหลวงชนบท ตามโครงการก่อสร้างทางต่างระดับข้ามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 361 และทางรถไฟสายตะวันออก เป็นการพัฒนาโครงข่ายการขนส่งระบบโลจิสติกส์ ให้มีความสมบูรณ์รองรับการเจริญเติบโตของเมืองชลบุรี รวมทั้งเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทั้งนี้ กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้จัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแล้ว

sara

2.2 ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลเนินขี้เหล็ก ตำบลบ้านไร่ ตำบลสระแก้ว และตำบลลาดยาว อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ พ.ศ. .... เพื่อขยายทางหลวงชนบท นว.1001 และสร้างถนนวงแหวนสายเลี่ยงเมืองอำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อลดความแออัดของจราจร แก้ไขปัญหารถขนส่งสินค้าผ่านเมือง เพิ่มความปลอดภัยให้กับประชาชน รวมทั้งเพิ่มศักยภาพโครงข่ายระบบโลจิสติกส์ ให้มีความสมบูรณ์รองรับการเจริญเติบโตของเมืองในอนาคต ทั้งนี้ ทช. ได้จัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแล้ว

2.3 ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 247 สายทางเลี่ยงเมืองหนองคาย ตอนทางเลี่ยงเมืองหนองคายด้านตะวันออก พ.ศ. .... เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 247 สายทางเลี่ยงเมืองหนองคาย ตอนทางเลี่ยงเมืองหนองคายด้านตะวันออก ซึ่งเป็นโครงข่ายรวมและกระจายการจราจร ช่วยเลี่ยงและระบายการจราจรที่คับคั่งในตัวเมืองหนองคาย รวมทั้งเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างจังหวัดอุดรธานี หนองคาย และบึงกาฬ ทั้งนี้ กรมทางหลวงได้จัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียแล้ว

railp

3. ครม. มีมติอนุมัติให้ยกเลิกมติ ครม. เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2557 เฉพาะที่ให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการเสนอร่างกฎกระทรวง เพื่อกำหนดให้ผู้ประกอบการขนส่งระหว่างประเทศ ต้องจัดทำประกันภัย และขอถอนร่างกฎกระทรวงกำหนดเงื่อนไขในการจัดให้มีประกันไว้ในใบอนุญาตประกอบการขนส่งระหว่างประเทศ พ.ศ. .... ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เนื่องจากการกำหนดเงื่อนไขในการจัดให้มีประกันที่ครอบคลุมความรับผิดไม่น้อยกว่าอัตราที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติ การรับขนของทางถนนระหว่างประเทศ พ.ศ. 2556
และพระราชบัญญัติการรับขนคนโดยสารทางถนนระหว่างประเทศ พ.ศ. 2557 ไว้ในใบอนุญาตประกอบการขนส่งระหว่างประเทศ นั้น ผู้ประกอบธุรกิจประกันภัยไม่สามารถออกกรมธรรม์ประกันภัยให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดได้ทั้งหมด เช่น ปัญหาการรับประกันภัยกรณีมีการเปลี่ยนรถที่ใช้ในการขนส่ง ความซ้ำซ้อนกับกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ความไม่ชัดเจนของการคุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้นจากความล่าช้าในการขนส่ง การคุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อจิตใจ เป็นต้น

ซึ่งจะทำให้กฎกระทรวงไม่มีผลบังคับในทางกฎหมายไปโดยปริยาย ประกอบกับพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวมีบทบัญญัติกำหนดความรับผิด และจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้อย่างชัดเจน ซึ่งผู้ส่งหรือผู้โดยสารสามารถฟ้องเรียกร้องเอากับผู้ขนส่งได้ โดยไม่จำเป็นต้องกำหนดเป็นหน้าที่ของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522

railp2

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว