วันที่ 28 ต.ค. 2565 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ของไทย และ นายพันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน (สปป.)ลาว ร่วมกันทำพิธีวางศิลาฤกษ์ การก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 ซึ่งเชื่อมระหว่างจังหวัดบึงกาฬของไทย และแขวงบอลิคำไซของสปป.ลาว ในพื้นที่โครงการทั้ง 2 ฝั่ง
นับว่าเป็นอีกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์แห่งความร่วมมือ ระหว่างไทยและสปป.ลาว นับแต่ร่วมกันก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ข้ามน้ำโขงแห่งแรก เชื่อมหนองคาย-เวียงจันทน์ ในสมัยรัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ผู้นำนโยบาย “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” จนกลุ่มประเทศในอินโดจีนหันมาเปิดความสัมพันธ์ระหว่างกันมากขึ้นเป็นลำดับ รวมถึงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ที่เพิ่มขึ้นถึงแห่งที่ 5
สำหรับโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) มูลค่ากว่า 4,300 ล้านบาทเศษ ผลการก่อสร้างถึงต.ค. 2565 ในภาพรวม 3 สัญญา คืบหน้าประมาณ 62.533% ช้ากว่ากำหนดการประมาณ -1.884% และคาดว่าจะเสร็จตามโครงการในปี 2571
นายเจตน์ เกตุจำนง ที่ปรึกษาหอการค้าและสภาอุตสาห กรรมจังหวัดบึงกาฬ นักธุรกิจไทย-ลาว กล่าวว่า เมื่อเปิดใช้สะพานแห่งใหม่นี้ จะเสริมศักยภาพของบึงกาฬทั้งในด้านการค้า การลงทุน การเดินทางสัญจร ตลอดจนการคมนาคมขนส่งอย่างมหาศาล รวมไปถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จะเกิดความสะดวก รวดเร็ว ในการ เดินทางขนส่งเพิ่มไม่น้อยกว่า 30% รวมทั้งช่วยแบ่งเบาภาระการขนส่งผ่านสะพานข้ามโขงที่หนองคาย 12% ที่นครพนม 18%
เส้นทางคมนาคมขนส่งผ่านบึงกาฬ เพื่อข้ามไปสปป.ลาวแล้ว ยังสามารถเชื่อมโยงต่อไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งกัมพูชา เวียดนาม และจีนตอนใต้ แต่ทั้งนี้ต้องรีบหารือสะสางกฎระเบียบการเดินทาง การผ่านแดนของยานพาหนะ หรือการขนส่งระหว่างประเทศ ที่ยังแตกต่างและมีข้อจำกัด ให้เกิดความชัดเจน ได้มาตรฐาน เพื่อความสะดวกและอำนวยประโยชน์ในการใช้โครงข่ายเส้นทางสูงสุด
นายเจตน์กล่าวด้วยว่า นอกจากสะพานและโครงข่ายเส้นทางคมนาคมปัจจุบันแล้ว เวลานี้ทางการสปป.ลาว มีแผนพัฒนาทางหลวงและเส้นทางรถไฟ ต่อจากรถไฟจีน-ลาวที่เวียงจันทน์ ผ่านแขวงบอลิคำไซ ต่อเข้าท่าเรือนํ้าลึกหวุงอ๋างในเวียดนาม ตามยุทธศาสตร์ของสปป.ลาว ที่จะเปลี่ยนสู่ประเทศที่มีทางออกทะเล คาดจะแล้วเสร็จในอีก 2-3 ปี ซึ่งโครงข่ายถนนและสะพานข้ามโขง 5 แห่งนี้ สามารถเชื่อมต่อได้ และเอื้อต่อการขนส่งสินค้าของภาคเหนือและอีสาน มีเส้นทางออกสู่ทะเลเพิ่มอีกแห่ง โดยจากบึงกาฬมีระยะทางเพียง 300 กิโลเมตรเศษ หรือเชื่อมโครงข่ายรถไฟของจีน ก็สามารถส่งสินค้าถึงยุโรปได้
บึงกาฬจึงต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยนอกจากสะพานข้ามโขง แห่งที่ 5 ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างแล้ว ยังมีเมกะโปรเจ็กต์โครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ประกอบด้วย ซึ่งมีเป้าหมายจะแล้วเสร็จภายในปี 2571-2572 ที่จะพลิกโฉมบึงกาฬ ประกอบด้วย
โครงการก่อสร้างสนามบินบึงกาฬ ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนพัฒนาท่าอากาศยานในภูมิภาคหลายแห่งในอีสาน ของกรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม โดยของบึงกาฬอยู่ในขั้นตอนประชาพิจารณ์ สำรวจออกแบบ ล่าสุดกระทรวงคมนาคม จัดสรรงบ 41.01 ล้านบาท จ้างที่ปรึกษาฯออกแบบรายละเอียดอาคารที่พักผู้โดยสาร คาดเริ่มก่อสร้างปี 2566 เสร็จปี 2571 บนเนื้อที่ 2,500 ไร่ ต.ป่าเปลือย และต. วิศิษฐ์ อ.เมืองบึงกาฬ ห่างตัวเมือง 12 กิโลเมตร บนทางเลี่ยงเมืองสู่สะพานข้ามโขง 5 งบประมาณ 3,000 ล้านบาทเศษ
การก่อสร้างถนน 4 เลน สายใหม่อุดรธานี-บึงกาฬ ระยะทาง 155.531 กม. โดยไม่ต้องอ้อมไปผ่านหนองคาย อยู่ระหว่างสำรวจออกแบบ ก่อนตั้งงบก่อสร้างต่อไป โดยนอกจากจะเป็นเส้นทางสัญจรแล้ว ยังเป็นเส้นทางขนส่งสินค้ารับกับการก่อสร้างสะพานข้ามโขง 5 และเส้นทางเพื่อการท่องเที่ยว รวมถึงโครงการก่อสร้างและพัฒนาศักยภาพโครงข่ายถนนสู่บึงกาฬ ขยายไหล่ทาง เพิ่มความสะดวกปลอดภัย
โครงการนิคมอุตสาหกรรมบึงกาฬ เดิมภาคเอกชนในพื้นที่เสนอผ่านกรอ.จังหวัด ขอให้จัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนบึงกาฬ ซึ่งสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เห็นชอบด้วย แต่อาจมีขั้นตอนล่าช้า ล่าสุดได้ร่วมมือกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เดินหน้าเตรียมจัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดบึงกาฬไปพลางก่อน โดยกนอ.ลงพื้นที่สำรวจครั้งที่ 2 เมื่อ 20 ต.ค. 2565 เอกชนเสนอใช้ที่สปก.ประมาณ 2,000 ไร่ บริเวณต่อเนื่องสู่สะพานข้ามโขง 5 เช่นกัน เมื่อมีนิคมฯเกิดขึ้นแล้วคาดว่าจะสามารถขอจัดตั้งเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนได้ง่ายขึ้น
ทั้งนี้ เมื่อสะพานข้ามโขง 5 เปิดใช้ จะเสริมสร้างศักยภาพด้านต่างๆ ของบึงกาฬ จากจังหวัดชายแดนริมน้ำโขง ให้กลายเป็นประตูการค้า การลงทุนใหม่ ตลอดจนฐานการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากยางพารา
ยงยุทธ ขาวโกมล/รายงาน
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,832 วันที่ 3-5 พฤศจิกายน พ.ศ.2565