ปิดดีล JMART ควัก 1,200 ล้าน ฮุบหุ้น “สุกี้ตี๋น้อย” 30%

08 พ.ย. 2565 | 12:59 น.
อัปเดตล่าสุด :08 พ.ย. 2565 | 20:06 น.

บอร์ดเจมาร์ท ไฟเขียวควัก 1,200 ล้านบาท เข้าถือหุ้น “สุกี้ตี๋น้อย” 3.52 แสนหุ้นหรือ 30% คาดดำเนินธุรกรรมแล้วเสร็จธันวาคมนี้

รายงานข่าวจากบริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART ระบุว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 10/2565 เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ได้มีมติอนุมัติให้เข้าลงทุน และลงนามสัญญาในการเข้าลงทุน (Share Purchase Agreement: SPA และ Share Subscription Agreement: SSA) และสัญญาผู้ถือหุ้น (Shareholder Agreement: SHA) ในการเข้าลงทุนใน บริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป จำกัด (BNN)

ปิดดีล JMART ควัก 1,200 ล้าน ฮุบหุ้น “สุกี้ตี๋น้อย”  30%

ซึ่งประกอบธุรกิจร้านอาหารภายใต้แบรนด์ ‘สุกี้ตี๋น้อย’ จำนวน 352,941 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 30% ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด มูลค่าลงทุนรวมไม่เกิน 1,200 ล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่าจะดำเนินธุรกรรมการลงทุนให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2565

 

ทั้งนี้บริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป จำกัด (BNN) เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจร้านอาหารประเภทสุกี้ ภายใต้แบรนด์ ‘สุกี้ตี๋น้อย’ ปัจจุบันมีสาขา 42 สาขาในประเทศ โดยมีแผนธุรกิจในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทในฐานะที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการค้าปลีก การเงิน และเทคโนโลยี จะช่วยให้พันธมิตรทางการค้า BNN มีการเติบโตในด้านผลการดำเนินงานให้ได้ตามเป้าหมาย การขยายสาขาไปยังพื้นที่ที่มีศักยภาพทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวมถึงแผนการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

อย่างไรก็ดี ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการลงทุนครั้งนี้ JMART เล็งเห็นว่าธุรกิจร้านอาหารของ BNN เป็นธุรกิจที่มีศักยภาพ และมีโอกาสในการเติบโตสูงภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน จึงมีความสามารถในการสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัท ภายหลังจากการเข้าทำธุรกรรม การเข้าซื้อหุ้นใน BNN จะทำให้บริษัทได้มาซึ่งพันธมิตรทางธุรกิจ และก่อให้เกิดการผนึกกำลังที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจ

 

สำหรับการร่วมมือกับ BNN ขยายธุรกิจเพิ่มเติมจากการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อช่องทางของบริษัท และการนำเอาเทคโนโลยีที่บริษัทมี เช่น เทคโนโลยีทางด้าน CRM และโปรโมชันต่างๆ อันนำมาสู่การเติบโตทางธุรกิจของกลุ่มบริษัท สร้างโอกาสในการขยายธุรกิจประเภทค้าปลีกทั้งในกลุ่มอาหาร เทคโนโลยี และพลังงานทดแทน