การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ประเทศไทยยังอลเวง ทั้งที่จะเริ่มการแข่งขัน 20 พ.ย.-18 ธ.ค.2565 นี้ ยังไม่มีตัวแทนซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอด ขณะที่ชาติสมาชิกอาเซียนอื่น มีผู้ถือลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด จากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า กันหมดแล้ว โดยส่วนใหญ่ได้รับลิขสิทธิ์ครอบคลุมสื่อทุกแฟลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น โทรทัศน์ วิทยุ มือถือ และ อินเทอร์เน็ต จุดกระแสวิตกกังวลแฟนบอลชาวไทย ว่าจะชวดการรับชมหรือไม่
เรื่องนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ยืนยันในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าคนไทยจะได้ชมถ่ายทอดสดอย่างแน่นอน โดยงบประมาณหลักที่ใช้จะมาจากเงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ภายใต้สังกัดสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยไม่ต้องไปรบกวนเอกชน
จากนโยบายดังกล่าว คณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช. เรียกประชุมวาระพิเศษ เมื่อวันศุกร์ที่ 28 ต.ค. 2565 พิจารณาการใช้เงิน กทปส. ที่มีอยู่จำนวน 2,000 ล้านบาท ในการไปซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 ตามที่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กทท.) ทำรายละเอียดเสนอมา แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ จึงนัดพิจารณาต่อในวันพุธที่ 9 พ.ย.22565 อีกครั้ง
ค่าดูบอลโลก1,591 ล้าน
แหล่งข่าวจากวงการโทรคมนาคม เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การประชุมในวันพุธที่ 9 พ.ย. บอร์ด กสทช. มีวาระพิจารณาซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 ภายหลังจาก กกท.ได้พยายามหาเอกชนมาซื้อลิขสิทธิ์แล้ว แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ รัฐบาลจึงมีมอบหมายให้ กสทช.พิจารณา เพื่อให้คนไทยได้ดูการถ่าย ทอดสดฟุตบอลโลก 2022
สำหรับขั้นตอนในการพิจารณาซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 เมื่อมีข้อสั่งการจาก มติ ครม. แจ้งเป็นทางการแล้ว จากนั้นจึงตั้งคณะทำงานขึ้นมาหนึ่งชุดนำเสนอราคามาที่กองทุน กทปส. ประเมินวิเคราะห์ความคุ้มค่า เสนอต่อที่ประชุมบอร์ด กสทช. รับทราบและอนุมัติต่อไป
ล่าสุดมีการยืนยันตัวเลขว่า ค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 อยู่ที่ 36 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อคำนวณตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราล่าสุด บวกภาระภาษีที่ต้องจ่าย คิดเป็นวงเงินรวมทั้งสิ้น 1,591 ล้านบาท
ดึงเวลาเกมวัดใจ“ต่อราคา”
ส่วนการยื้อเวลาจนฉิวเฉียดนั้น แหล่งข่าวจากทำเนียบ กล่าวว่า เป็นกลยุทธ์ของทางรัฐบาลเอง เมื่อดึงเวลาจนใกล้เริ่มการแข่งขัน เชื่อว่าในที่สุดจะเจรจาผู้ถือลิขสิทธิ์การถ่ายทอดในภูมิภาคนี้ ให้ได้ในราคาที่ต่ำกว่า 1,600 ล้านบาท ซึ่งเรื่องนี้ได้มีการหารือในครม.กันมาก่อนแล้ว คืนให้กองทุน กทปส. ต่อไป
ทั้งนี้ แหล่งข่าวใน กสทช.กล่าวว่า หากจะใช้เงินกองทุนกสทช.มาซื้อลิขสิทธิ์โดยตรงเลยนั้นทำไม่ได้ เพราะไม่ตรงวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ จึงเป็นไปได้ว่าจะให้ กทท.เป็นตัวแทนกระทรวงการคลัง ทำเรื่องขอยืมเงินกองทุนฯมาจ่ายค่าลิขสิทธิ์ไปก่อน ตามแนวทางที่เคยทำมาครั้งก่อน โดยอาจมีเงินบางส่วนของ กทท.สมทบด้วยหรือไม่นั้น ต้องดูในรายละเอียด และเมื่อได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 มาแล้ว อาจเปิดให้สถานีโทรทัศน์ หรือ ภาคเอกชนเข้ามาร่วมสนับสนุน ซึ่งอาจมีรายได้กลับมาส่วนหนึ่ง เมื่อหักกลบแล้วเหลือยอดหนี้เท่าไหร่ กระทรวงคลังจึงค่อยตั้งงบฯไปชำระคืนให้ กสทช.เป็นปีๆ ตามรอบปีงบประมาณต่อไป”
นักวิชาการรุมค้าน
ขณะที่ความเคลื่อนไหวอีกด้านหนึ่งนั้นมีกลุ่มนักวิชาการด้านสื่อ และเศรษฐกิจออกมารุมคัดค้านการนำเงินกองทุน กทปส. มาใช้สนับสนุนการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลโลก รศ.ดร.ปรีดา อัครจันทโชติ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าการประชุมคณะกรรมการกสทช. วันที่ 9 พฤศจิกายน 65 นี้หากมีการพิจารณาอนุมัตินำเงินจากกองทุน กทปส. ซึ่งเป็นเงินส่วนกลางเพื่อประโยชน์สาธารณะไปใช้สนับสนุนการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ที่มีมูลค่าลิขสิทธิ์ประมาณ 42 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ ประมาณ 1,600 ล้านบาทนั้น ก็จะขัดต่อวัตถุประสงค์ของกองทุน กทปส.
“เราไม่ได้คัดค้านการถ่ายทอดฟุตบอลโลก เราไม่อยากตกเป็นแพะ ที่ทำให้คนไทยไม่ได้ดูฟุตบอลโลก แต่เราคัดค้านการนำเงิน กองทุน กทปส. มาสนับสนุนการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก ซึ่งเราก็ไม่อยากให้ กสทช. เป็นแพะในการนำกองทุนสาธารณะ มาสนับสนุนการถ่ายทอดฟุตบอลโลกเช่นเดียวกัน เพราะจะกระทบกับสถานภาพการเงินของกองทุน ที่ว่าเหลืออยู่ 2,000 ล้านบาท ถ้าต้องนำมาใช้สนับสนุนการถ่ายทอดฟุตบอลโลก 1,600 ล้านบาท กระทบกับโครงการอื่นๆ แน่นอน ซึ่ง กสทช. ต้องออกมาชี้แจงให้ชัดเจน”
สำหรับทางออกในเรื่องนี้ มองว่าระยะสั้น กสทช. ต้องหารือกับ กกท. และเอกชน รวมถึงต้องพิจารณายกเว้น มัสต์แฮฟ (Must Have) และ มัสต์แคร์รี่ (Must Carry) เฉพาะกิจ ที่เป็นอุปสรรคที่ทำให้เอกชนจำนวนไม่น้อยไม่สามารถลงทุนซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกได้ ระยะยาวต้องมีการพิจารณามัสต์แฮฟ และ มัสต์แคร์รี่ กันอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้เอกชนมาร่วมกันลงทุนซื้อลิขสิทธิ์ และเลือกคู่การแข่งขันสำคัญที่เปิดให้มีการถ่ายทอดสดให้ทุกคนได้ดู เช่น นัดเปิดสนาม รอบรองชนะเลิศ หรือนัดชิงชนะเลิศ ส่วนนัดอื่นๆ เปิดให้เอกชนสามารถหารายได้จากการถ่ายทอดได้”
ด้าน ผศ.ดร.มรรยาท อัครจันทโชติ หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่ากรณีที่มีการระบุว่า ซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก แล้วทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกลับคืนมา 30,000-40,000 ล้านบาทนั้น ถ้าหากเป็นเช่นนั้นถามว่าทำไมเอกชนไม่กล้าลงทุน ทั้งฟุตบอลยูโรครั้งที่แล้วรวมถึงฟุตบอลโลกครั้งที่แล้วด้วย ที่มีการร่วมมือของเอกชนหลายราย ดังนั้นจึงไม่แน่ใจว่าการลงทุนครั้งนี้จะสร้างให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกลับคืนมา ซึ่งจะเห็นได้จากขณะนี้ไม่มีกิจกรรมทางการตลาดใดๆ เกี่ยวกับฟุตบอลโลก ต่างจากในอดีตที่มีกิจกรรมเกิดขึ้นจำนวนมาก การนำเงินกองทุนนี้ไป อาจนำมาสู่ความล่มสลายทางเศรษฐกิจ และส่งผลกับประชาชนทั้งประเทศ
ส่วน นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ชี้ว่า กองทุน กทปส. ตั้งมาเพื่อขยายการบริการวิทยุ โทรทัศน์ และโทรคมนาคม ให้ทั่วถึง เช่น ขยายพื้นที่ ช่วยให้คนพิการเข้าถึง พัฒนากิจการ หรือคุ้มครองผู้บริโภคไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่ออุดหนุนการถ่ายทอดฟุตบอลโลกหรือกิจกรรมอะไรแบบนี้ จึงเป็นการผิดกฎหมาย และชี้ว่าสภาพปัญหาจากที่ไม่มีเอกชนรายได้สนใจซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอด เพราะติดกฎ Must Have และ Must Carry ในเวลากระชั้นชิดนี้หากรัฐบาลเห็นว่าการถ่ายทอดมีความจำเป็น ควรใช้เงินกองทุนการกีฬามาดำเนินการ หากไม่พอก็ต้องใช้งบประมาณมาเติม ซึ่งจะสะท้อนว่ากิจกรรมนี้มีต้นทุน และกสทช.ควรพิจารณาปรับปรุงกฎ Must Have และ Must Carry ให้ชัดเจนโดยเร็ว