นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จุดอ่อนสำคัญของธุรกิจบริการไทย คือ ขาดองค์ความรู้ที่จำเป็นในการบริหารธุรกิจ เช่น การคำนวณต้นทุน การตลาด การบริหารงานบุคคล การเงินและบัญชี ระบบภาษี ความรู้ด้านกฎหมาย การนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการธุรกิจ รวมทั้ง ต้องเผชิญกับภาวการณ์แข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น
ดังนั้น การเพิ่มพูนองค์ความรู้เชิงลึกแบบครบทุกมิติจะช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าใจ/เข้าถึงแก่นแท้ของธุรกิจมากขึ้น มีระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ดำเนินธุรกิจอย่างสมเหตุผล ส่งผลต่อความเข้มแข็งของธุรกิจระยะยาว และผลประกอบการที่เป็นกำไรในอนาคต พร้อมที่จะขยายและพัฒนาธุรกิจให้เติบโตไปในทิศทางที่ถูกต้อง เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น และมีความเชื่อมโยงกับธุรกิจต่อเนื่องที่หลากหลาย
“การค้าภาคบริการเป็นภาคเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้ประเทศในระดับสูง อีกทั้ง ความต้องการใช้บริการทุกภาคบริการมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น จึงมอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เร่งติดอาวุธด้านการบริหารจัดการธุรกิจแก่ผู้ประกอบธุรกิจบริการรายย่อยของไทยเพื่อให้แข่งขันกันได้
โดย3 ธุรกิจที่น่าจับตามองในปีหหน้าประกอบด้วย ธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ และ ธุรกิจบริการความงามและสุขภาพ (Wellness) โดยเน้นการเสริมสร้างองค์ความรู้เชิงลึกแบบครบทุกมิติ ทั้งการตลาด การบริหารจัดการธุรกิจ การเงินและบัญชี วิธีการจัดการต้นทุนไม่ให้บานปลาย การขยายตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึง กลยุทธ์/เทคนิคการบริการที่ดีเยี่ยมเพื่อให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจสูงสุด และพร้อมที่จะกลับมาใช้บริการซ้ำ รวมทั้ง สร้างเครือข่ายผู้ประกอบธุรกิจบริการเพื่อให้เกิดการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน และมีโอกาสพัฒนาเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ หรือร่วมลงทุนในอนาคต
“ 3 ธุรกิจบริการเป้าหมาย เกี่ยวข้องกับสาธารณชนจำนวนมาก เป็นธุรกิจที่กำลังเข้ากระแสนิยม และมีผู้ประกอบการรายย่อยสนใจเข้ามาประกอบธุรกิจจำนวนมาก จึงได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เสริมสร้างองค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565”
ทั้งนี้หาวิเคราะห์ออกมาจะพบว่า ธุรกิจร้านอาหาร ถือเป็นธุรกิจฐานรากที่มีทุกชุมชน เข้าถึงลูกค้าได้ทุกกลุ่ม ประกอบธุรกิจได้ทันที มีตั้งแต่ขนาดเล็ก-ขนาดใหญ่ สำหรับผู้ประกอบการรายเดิมเริ่มหันกลับมาขยายสาขา โดยปรับรูปแบบการให้บริการเป็นแบบ Limited Service เพื่อลดต้นทุนธุรกิจและรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยให้ความสำคัญกับตลาดกลุ่มลูกค้าซื้อกลับบ้าน (Take Home) และการจัดส่งอาหารไปยังที่ต่างๆ (Delivery
ส่วนธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ ช่วยผลักดันให้ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุของไทยเติบโตเพิ่มมากขึ้น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้เสริมสร้างองค์ความรู้เพื่อให้ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุเตรียมความพร้อมรับมือกับปัญหาและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งปัจจุบันและอนาคต มีองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการธุรกิจ การจัดทำแผนธุรกิจ บัญชี ภาษี และกฎหมาย นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาปรับใช้ในการบริหารจัดการและสื่อสารการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปรับตัวเพื่อความอยู่รอดและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจ
ธุรกิจบริการความงามและสุขภาพ (Wellness) เป็นการดูแลสุขภาพของคนทุกช่วงวัย ตั้งแต่วัยเด็ก วัยทำงาน ไปจนถึงผู้สูงอายุ เป็นการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน การใช้สินค้าและบริการต่างๆ เกี่ยวกับสุขภาพและความงามมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังครอบคลุมอีกหลายภาคส่วน เช่น การท่องเที่ยวสุขภาพ โภชนาการเพื่อสุขภาพ การชะลอวัย การออกกำลังกายและจิตใจ การลดน้ำหนัก การดูแลส่วนบุคคล สปา ความงาม รวมทั้ง การแพทย์แผนดั้งเดิมและการแพทย์ทางเลือก เป็นต้น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เตรียมจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าธุรกิจบริการด้วยการตลาดดิจิทัล เพิ่มยอดขายสร้างรายได้แก่ธุรกิจ เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยที่กลับมาคึกคักอีกครั้ง ก่อให้เกิดการจ้างงานและกระจายรายได้สู่ชุมชนทั่วประเทศ ดำเนินกิจกรรมระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - สิงหาคม 2566
ทั้งนี้ ภาครัฐพร้อมให้การสนับสนุนภาคธุรกิจบริการเต็มที่ เชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจ และจะเป็นตัวกลางช่วยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ธุรกิจบริการกลุ่มเป้าหมายได้รับความสะดวกรวดเร็วในการประกอบธุรกิจ พร้อมทั้งเสริมสร้างศักยภาพให้ผู้ประกอบการมีความเข้มแข็งเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นการสร้างความยั่งยืนในการประกอบธุรกิจ สร้างรายได้เข้าประเทศ และส่งผลต่อดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในภาพรวมต่อไป
ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2565) 3 ธุรกิจบริการเป้าหมายที่เป็นนิติบุคคล มีจำนวนทั้งสิ้น 22,029 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 137,626.23 ล้านบาท แบ่งเป็น ธุรกิจร้านอาหาร 18,263 ราย ทุนจดทะเบียน 117,554.12 ล้านบาท ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ 654 ราย ทุนจดทะเบียน 3,955.80 ล้านบาท ธุรกิจบริการความงามและสุขภาพ (Wellness) 3,112 ราย ทุนจดทะเบียน 16,116.32 ล้านบาท