นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงกรณีการปรับแบบและเพิ่มวงเงินค่าก่อสร้างโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน-นครราชสีมา หรือมอเตอร์เวย์ (M6) จำนวน 16 ตอนว่า จากที่กรมทางหลวง (ทล.) ได้สรุปผลการตรวจสอบกรณีการปรับแบบและปรับเพิ่มวงเงินค่าก่อสร้างเสนอมายังกระทรวงคมนาคมเพื่อให้พิจารณาและนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) นั้น เนื่องจากรายละเอียดยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์
ทั้งนี้ได้มอบหมายให้กรมทางหลวงกลับไปทบทวนใหม่ โดยให้ทำตารางแยกรายละเอียดงานก่อสร้างเพิ่มเติมจากการปรับแบบ ในส่วนที่มีการดำเนินการไปแล้ว กับส่วนที่ยังไม่ได้มีการดำเนินการ ออกจากกันให้ชัดเจนว่ามีอะไรบ้าง และวงเงินแต่ละส่วนเท่าไร เบื้องต้นหากแยกงาน VO ที่มีการก่อสร้างไปแล้วออกจะทำให้การแก้ไขปรับปรุงแบบมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมาจำนวน 16 ตอน มีค่างานเพิ่มขึ้นประมาณ 5,000 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากเดิมที่มีค่างานเพิ่มขึ้นกว่า 6,000 ล้านบาท
“ประเด็นสำคัญ คือ เรื่องที่นำเสนอ ครม.นั้น เอกสารต้องมีรายละเอียด มีข้อมูลข้อเท็จจริง ต้องไม่มั่ว ไม่หมก และต้องแยกรายละเอียด อะไรที่ยังไม่ได้ทำ มีเหตุผลอย่างไร ค่าก่อสร้างเท่าไร ผมยินดีจะนำเสนอ ครม.เพื่อขอให้พิจารณาเพิ่มงบประมาณ เพราะเป็นงาน VO ที่ยังไม่ได้ก่อสร้าง ส่วนอะไรที่ทำไปล่วงหน้าแล้วก็ต้องแยกออกมาให้ชัดเจนและชี้แจงไว้ในเอกสารที่เสนอ ครม.ด้วย แต่ไม่สามารถเสนอของบเพิ่มให้ได้เพราะเราไม่มีอำนาจ ดังนั้นหากอยากได้เพิ่มส่วนนี้คงต้องฟ้องศาล”
รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า โครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา ระยะทาง 196กิโลเมตร กรอบวงเงิน 84,600 ล้านบาท โดยแบ่งการก่อสร้างงานโยธาออกเป็น 40 ตอน เริ่มต้นสัญญาก่อสร้างในช่วงปี 2559-2560 การก่อสร้างงานโยธา ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2565 มีความคืบหน้ารวม 96.508% โดยก่อสร้างแล้วเสร็จ 100% แล้วจำนวน 30 ตอน ส่วนที่เหลือที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จ เนื่องจากมีปัญหาอุปสรรคจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงแบบก่อสร้างให้เหมาะสม ซึ่งทำให้มีค่างานเพิ่มขึ้นประมาณ 6,755 ล้านบาท แต่ยังอยู่ในกรอบวงเงินที่ ครม.ได้เห็นชอบไว้เมื่อปี 2558
ขณะที่การดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) วงเงิน 21,329 ล้านบาท ขณะนี้กลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR 6 ซึ่งประกอบด้วย บมจ.บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STECON) และ บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) ได้เข้าพื้นที่ครบทั้ง 9 ด่านแล้ว
สำหรับประเด็นปัญหาหลักในการปรับรูปแบบก่อสร้างโครงการมีสาเหตุจาก 4 กรณี คือ
1. สภาพพื้นที่จริงที่เริ่มทำการก่อสร้างในปี 2560 ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เคยสำรวจออกแบบไว้ตั้งแต่ปี 2551
2. ได้ปรับปรุงรูปแบบทางวิศวกรรมให้สอดคล้องกับสภาพทางกายภาพ และสภาพชั้นดินทางธรณีวิทยาของพื้นที่ก่อสร้างในปัจจุบัน เพื่อให้เกิดความแข็งแรงของตัวโครงสร้างของมอเตอร์เวย์ และประชาชนเดินทางใช้งานได้อย่างปลอดภัย
3. ปรับรูปแบบให้เหมาะสมสอดคล้องกับโครงสร้างงานสาธารณูปโภคต่างๆ ข้อจำกัด เงื่อนไข หรือความจำเป็นของหน่วยงานอื่น ที่มอเตอร์เวย์ตัดผ่าน เช่น การยกระดับความสูงเพิ่มขึ้นมอเตอร์เวย์ส่วนที่ข้ามคลองชลประทาน หรือการสร้างกำแพงครอบมอเตอร์เวย์ในช่วงที่ผ่านเรือนจำกลางคลองไผ่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา เป็นต้น
4. การปรับรูปแบบการก่อสร้างเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อข้อร้องเรียนของประชาชนในพื้นที่ และให้สอดคล้องกับโครงข่ายถนนที่ประชาชนใช้ทางในปัจจุบัน เช่น การก่อสร้างทางขนานตามแนวมอเตอร์เวย์ในบางช่วง หรือก่อสร้างทางลอดเพิ่มขึ้น เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางเข้าออกพื้นที่ได้สะดวก